ช้างไม้แกะสลัก บ้านจ๊างนัก

พิพิธภัณฑ์บ้านจ๊างนัก ช้างไม้แกะสลั จังหวัดเชียงใหม่

source: www.baanjangnak.com


ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2528 โดย สล่าเพชร วิริยะซึ่งได้รวบรวมเพื่อนฝูง ตลอดจนลูกศิษย์ลูกหา ช่างแกะสลักฝีมือดีและมีความรักในศิลปะการแกะสลัก ไม้แบบล้านนามารวมตัวกันจัดตั้ง กลุ่มแกะสลักขึ้นมา

เมื่อปีพ.ศ.2531 คุณลุงประยูร จรรยาวงศ์ (2458) คอลัมน์นิสต์ชื่อดังแห่งหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐในขณะ นั้น ได้ให้เกียรติมาเยี่ยมเยือนพร้อมกับตั้งชื่อบ้านว่า บ้านจ๊างนัก อันหมายถึงบ้านที่มีช้าง เยอะแยะมากมาย
บ้านจ๊างนัก ได้มีการพัฒนารูปแบบการแกะสลักช้าง ช้างไม้แกะสลัก จากเดิมที่ช่างแกะจะมีการแกะสลักแบบ ตายตัว รูปแบบจะซ้ำกัน มาเป็นการแกะสลักช้างที่ดูมีชีวิตชีวา มีท่าทางท่วงทำนองที่เหมือน ช้างจริง ๆ ซึ่งนับเป็นแห่งแรกที่มีการแกะสลักช้าง รูปแบบนี้

บ้านจ๊างนัก ยังเป็นแห่งแรกที่มีการทดลองนำวัสดุใหม่ๆที่หาได้ในท้องถิ่นมาทด แทนวัสดุเดิม ที่นับวันมีแต่จะหายากมากขึ้น เช่น มีการนำเอาไม้ขี้เหล็กมาทดแทนไม้สัก ซึ่งประโยชน์เพียงอย่างเดียวของไม้ขี้เหล็ก ในสมัยก่อน คือนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น และผลที่ได้จากการนำมาแกะสลักพบว่าไม้ขี้เหล็กเป็นไม้เนื้อแข็งมากการแกะค่อนข้างยากกว่าไม้สัก แต่ผลงานที่ออกมาจะสวยงาม และสีเป็นธรรมชาติงานแกะสลักไม้ทุกชิ้นของสล่าเพชรและลูกศิษย์ได้มีการพัฒนารูปแบบการแกะสลักช้างจากเดิมกลายมาเป็นแกะสลักช้างที่ดูมีชีวิตชีวา มีท่วงท่า ทำนองที่เหมือนกับช้างจริงๆ

นอกจากการทดลองเรื่องของไม้แล้ว ยังมีการนำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอด กันมามาประยุกต์ใช้ กับงานแกะสลัก นั่นก็คือ นำเอาลูกมะเกลือที่ใช้ในการย้อมผ้า มาย้อมสีไม้ซึ่งก็ให้สีที่เป็นธรรมชาติและ ไม่มีสารพิษตกค้างเป็นอันตราย ต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม สล่าเพชรเล่าว่าด้วยความผูกพันกับช้าง และช้างก็เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองล้านนามาแต่อดีต จึงได้รวบรวมเพื่อนฝูงตลอดจนลูกศิษย์ผู้มีความรักในศิลปะในการแกะสลักไม้ แบบล้านนามารวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มแกะสลักนี้ขึ้นมาจนได้เป็นพิพิธภัณฑ์บ้าน จ๊างนัแห่งนี้

เมื่อ ปี พ.ศ. 2546 บ้านจ๊างนัก ได้รับการบรรจุให้เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น สังกัด เอกชน ยังผลให้เป็นที่รู้จัก กันอย่างแพร่หลายในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและ ชาวต่างประเทศ ที่มีความสนใจในศิลปะแขนงนี้  นอกจากนี้ หนึ่งในความภาคภูมิใจของสล่าบ้านจ๊างนักทุกคนคือการที่เป็นส่วนหนึ่ง ของการทำให้ผู้คน ได้เกิดความรัก หวงแหน และ ตระหนักถึงความสำคัญ และปัญหาของ ช้างไทยในปัจจุบัน และร่วมกันอนุรักษ์ช้างไทยให้อยู่คู่กับคนไทยอีกนานเท่านาน

แผนที่พิพิธภัณฑ์ บ้านจ๊างนัก
Baan Jang Nak : A Museum of Elephant Wood Carvings

บ้าน ๑๐๐ อัน ๑๐๐๐ อย่าง

พระพิฆเนศทรงช้างเอราวัณที่ บ้าน ๑๐๐ อัน ๑๐๐๐ อย่าง
source: นิตยสาร อสท 
บ้าน ๑๐๐ อัน ๑๐๐๐ อย่าง ตั้งอยู่ที่ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๑๗ กิโลเมตร เป็นอาคาร ๓ หลัง ที่ได้ดัดแปลงเป็นเรือนไทยล้านนา เป็นเรือนอนุรักษ์ของโบราณ เครื่องปั้นดินเผา ไม้แกะสลัก อันเป็นมรดกล้ำค่าของล้านนา โดยแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือส่วนหน้าเป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์หัตถกรรม และส่วนหลังเป็นที่ตั้งศิลปหัตถกรรมอันทรงคุณค่าหายากชิ้นเอก ๆ จำนวนมากกว่า ๑,๐๐๐ ชิ้น จัดแยกประเภทและตกแต่งอย่างสวยงาม เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม และมีผู้บรรยายให้ความรู้ประกอบด้วย

ผลงานศิลปหัตถกรรมเหล่านี้ อาจารย์ชรวยได้เริ่มสะสมมาเป็นเวลากว่า ๒๖ ปี หลังจากที่เลิกจากอาชีพครูแล้ว และหันมาสะสมงานศิลปหัตถกรรมแทน โดยเฉพาะงานแกะสลักไม้อันวิจิตรตามหมู่บ้านล้านนา ด้วยวิธีการซื้อหาและจ้างแกะสลัก งานทุกชิ้นอาจารย์ชรวยจะเก็บรายชื่อ เรื่องราว และประวัติของช่างแกะสลักไว้ หัตถกรรมเหล่านี้มีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ งานแต่ละชิ้นจึงเป็นงานแกะสลักด้วยฝีมือชั้นครูและหาชมได้ยาก

งานศิลปหัตถกรรมที่มีมากที่สุดในบ้าน ๑๐๐ อัน ๑,๐๐๐ อย่าง ก็คือ การแกะสลักช้าง ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากของชาวล้านนา จนมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในการแกะสลักช้างที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ ช่างเพชร วิริยะ หรือสล่าเพชรแห่ง บ้านจ๊างนักที่มีผลงานอยู่ในบ้าน ๑๐๐ อัน ๑๐๐๐ อย่าง หลายชิ้น เช่น ช้างขนาดใหญ่เชือกเดียวและช้างหลายเชือกในอิริยาบถต่าง ๆ กัน แต่ละชิ้นนับเป็นสุดยอดของงานฝีมือทั้งสิ้น

งาน ชิ้นสำคัญที่สุดในบ้าน ๑๐๐ อัน ๑๐๐๐ อย่าง ที่ผู้คนสนใจกันมาก คืองานแกะสลักพระพิฆเนศทรงช้างเอราวัณขนาดใหญ่ ประกอบด้วยองค์พระพิฆเนศประทับนั่งบนหลังช้างสามเศียร มีบริวารแวดล้อม ๘ เชือก อาจารย์ชรวยเล่าว่า ตามปกติพาหนะของพระพิฆเนศคือหนู แต่ครั้งนี้ได้ขอยืมพาหนะของพระอินทร์คือช้างเอราวัณมาทรงเพื่อออกรบปกป้อง เมืองเชียงใหม่จากภยันตรายทั้งปวง ผู้แกะสลักศิลปหัตถกรรมชิ้นนี้คือช่างเพชร วิริยะ หรือสล่าเพชรแห่ง บ้านจ๊างนัก ใช้เวลาในการแกะสลัก ๒ ปี โดยจะขึ้นอยู่กับอารมณ์เป็นสำคัญ ไม้ที่ใช้แกะสลักเป็นไม้สัก ซึ่งจมอยู่ในดินลึกจังหวัดลำพูน เมื่อมีการก่อสร้างจึงได้พบไม้ชิ้นนี้ มีอายุไม่ต่ำกว่า ๕๐๐-๖๐๐ ปี เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ เมตร สูง ๓-๔ เมตร เป็นการแกะสลักไม้ในรูปแบบที่เหมือนจริง โดยเฉพาะสรีระทรวดทรงของช้างที่สง่างามมีชีวิตชีวา ทั้งยังลงลึกไปถึงรายละเอียดของรอยยับย่นบนผิวเนื้อ เส้นขน ขนตา อันเป็นงานที่สล่าเพชรเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ

งานแกะสลักชิ้นนี้ได้นำมาตั้งแสดงที่บ้าน ๑๐๐ อัน ๑๐๐๐ อย่าง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เสียค่าแรงในการแกะสลักเป็นเงินทั้งสิ้น ๓๕๐,๐๐๐ บาท มีผู้มาชมหลายท่านต้องการจะซื้อไปครอบครอง และครั้งสุดท้ายมีนักธุรกิจจากภูเก็ตขอซื้อเป็นเงินถึง ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท แต่อาจารย์ชรวยก็ไม่ยอมขาย เพราะคิดว่าศิลปหัตถกรรมชิ้นนี้สมควรอยู่เป็นสมบัติให้คนไทยได้ชมและศึกษา มากกว่า ยิ่งกว่านั้นยังเชื่อว่า พระพิฆเนศทรงช้างเอราวัณชิ้นนี้ศักดิ์สิทธิ์ สามารถช่วยขจัดปัญหาต่าง ๆ ที่พานพบได้หลายครั้ง

งานแกะสลักอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน คือช้างกับหญิงสาว ซึ่งแกะสลักได้เหมือนจริงที่สุด อาจารย์ชรวยได้รับความบันดาลใจมาจากภาพผู้หญิงฝรั่งถ่ายภาพกับช้าง จึงนำความคิดนี้มามอบให้สล่าเพชรเป็นผู้แกะสลัก สล่าเพชรได้แกะสลักรูปช้างอย่างมีชีวิตชีวา

ท่านจะพบกับสิ่งที่ไม่เคยเห็น
ท่านจะเห็นกับสิ่งที่ท่านไม่เคยคิด
ท่านจะคิดกับสิ่งที่ท่านไม่คาดฝัน
ท่านจะพบกับสิ่งที่น่าอัศจรรย์ที่สุด

บ้าน 100 อัน 1,000 อย่าง
เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมที่หลากหลาย เป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นของล้านนา ตั้งอยู่ริมถนนสายเชียงใหม่-ฮอด ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศใต้ 3 กม. อยู่ในบ้านป่าแงะ หมู่4 ต.หารแก้ว อ.หางดง
ติดต่อที่คุณ ชรวย ณ สุนทร เลขที่ 255/4 โทร:053 355819,822649, 09 850-0126
ตำบลตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

เส้นสาย ลายชีวิต ในงานแกะไม้

ลีลาศิลป์: เส้นสาย ลายชีวิต…ในงานแกะไม้
source: www.warindesign.com, www.salahlanna.com (ปัจจุบันปิดเว็บไซต์แล้ว)
ชีวิตของสาวผู้รักงานไม้ ถือกำเนิดมาในครอบครัวของช่างทำเฟอร์นิเจอร์ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยพ่อและตาของเธอทำงานด้านนี้มาก่อนที่เธอจะลืมตาดูโลกเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงไม่ต้องพูดว่าเธอรู้เรื่องงานไม้เหล่านี้มากมายเพียงใด แต่นั่นก็ไม่ใช่จุดที่ทำให้ชีวิตของวารินทร์เปลี่ยนไปเท่ากับวันที่เธอมาเจอ สล่าเพชร วิริยะ ช่างแกะช้าง ที่บ้านจ๊างนัก อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เพราะผู้ชายคนนี้คือคนที่ทำให้ชีวิตของเธอ ได้เดินตามทางที่ค้นหามานาน…

“ครูเพชร เป็นผู้สร้างตำนานช้างแกะในเมืองไทย ช้างแกะตัวเล็ก ๆ ที่เราเห็นกันจนเต็มเมืองนั้นมีต้นกำเนิดมาจากท่าน การที่ได้เจอครูเพชรเหมือนได้เจอจุดหมายปลายทาง เป็นคำตอบให้กับดิฉันในตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ทำงานทางด้านโปรดักดีไซน์ว่า เส้นทางของดิฉันอยู่ตรงไหน เพราะทุกครั้งที่เราทำงานตามสายอาชีพที่เรียนมาคือเฟอร์นิเจอร์ มีบางสิ่งที่บอกดิฉันมาตลอดว่า สิ่งที่ดิฉันอยู่ไม่ใช่สิ่งที่ดิฉันเป็น ดิฉันทึ่งท่านมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นช่างพื้นบ้านแต่ดิฉันรู้สึกว่า ท่านเป็นยิ่งกว่า ด็อกเต้อร์ เวลาที่ทำงานแกะสลักช้าง ท่านจะใส่ชีวิต ไปกับทุกชิ้นงานที่ท่านแกะ เมื่อรู้สึกอย่างนี้แล้วก็เลยขอท่านเรียนเลย เพราะว่าเรียนเป็นช่างแกะต้องลึกซึ้ง ต้องเรียนกันอย่างจริงจัง”

งานชิ้นแรกที่ทำเสร็จ คุณแจงบอกว่าเธอใช้เวลาถึง 1 ปีเต็ม เพราะหลังจากที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำมา เธอก็รับงานเป็นฟรีแลนซ์ ใช้เวลาศุกร์-จันทร์ในการเรียนแกะไม้ โดยเดินทางจากกรุงเทพฯถึงเชียงใหม่เป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นจึงนั่งรถทัวร์ไป-กลับแทน ส่วนวันอื่นที่เหลือ จะเป็นวันที่เธอรับงานมาทำเพื่อใช้เป็นรายได้ในการดำรงชีวิตของตัวเอง

“ช่วงแรก ๆ งานจะเป็นเรื่องราวของความรัก เพราะตอนนั้นยังมีความรักที่สวยงามอยู่ (หัวเราะ) เวลาที่มีความรู้สึกอะไรที่เด่นๆดิฉันจะจับมาเป็นงานได้หมด นี่เป็นข้อดีของคนทำงานศิลปะ ไม่ว่าจะสุข จะทุกข์ จะสามารถทำออกมาเป็นงานได้ ถ้าปวดร้าวมาก ๆ งานศิลปะก็ยังช่วยบำบัดจิตใจของเราได้ด้วย”

งานของเธอส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวของช้าง เรื่องนี้สล่าแจงบอกว่า เธอได้รับอิทธิพลมาจากคุณครูของเธอโดยตรง แต่เมื่อได้เรียนรู้ผ่านไปในระยะหนึ่ง สล่าแจงก็เริ่มค้นพบทางของตัวเองบ้าง ซึ่งนั่นก็คือการเพ้นท์สีลงไปในเนื้อไม้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการให้งานแกะไม้และงานเพ้นท์สีอยู่ด้วย การแกะสลักโดยเทคนิคผสมจึงเกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งตัวมากนัก

“ดิฉันชอบทำเรื่องผู้หญิงล้านนา ผู้หญิงที่แต่งกายในชุดพื้นเมือง เพราะตัวเองชอบชุดพื้นเมือง บางทีก็นำสไตล์เสื้อผ้าของตัวเองที่แปลกๆนี่แหละ สเก๊ตลงไปในรูป และดิฉันจะชอบให้ผู้หญิงดูเข้มแข็ง อย่างเช่น ฟันดาบ หรือจะเป็นผู้หญิงรำบ้างก็ได้ แต่ที่สนุกก็คือจะเจอเทคนิคใหม่ ๆ ขณะที่ทำงาน บางภาพเป็นเหมือนกับเราเอาพู่กันจีนมาปาด พอเดินเข้าไปดูจริง ๆ แล้ว มันกลายเป็นเส้นสิ่ว สิ่วหนึ่งตัวให้เส้นออกมาได้หลากหลายแนวมากอย่างไม่น่าเชื่อ ตรงนี้แหละที่สนุก หลัง ๆ ก็จะคลี่คลายมาสู่งาน Abstract เพราะดิฉันจับความรู้สึกได้ชัดขึ้น และพอจับความรู้สึกได้แล้วก็จะนำเสนอออกมาเป็นงาน”

แต่อย่างไรก็ดี ด้วยสภาวะของประเทศไทยเราในตอนนี้ การหาไม้มาแกะไม่ใช่เรื่องง่าย และน่าจะเป็นปัญหาของสล่าไม้โดยตรง เรื่องนี้สล่าแจงบอกว่า เธอได้หาทางออกไว้เรียบร้อย เพราะเธอพบไม้อัดชนิดหนึ่งที่เมื่อนำมาเคลือบผิวด้วยเรซิ่นแล้ว จะสามารถป้องกันความชื้นซึ่งก่อให้เกิดเชื้อราบนเนื้อไม้ได้ อีกทั้งไม้ชนิดนี้ในอนาคตการผลิตจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นอะไรที่หาง่าย แกะสนุก ไม่มีแนวเสี้ยน ลงสีไม้สวย เพราะฉะนั้นปัญหานี้จึงหมดไป เหลือแต่เพียงทำอย่างไรให้คนหันมาสนใจเรื่องราวงานไม้ และศิลปะมากขึ้นเท่านั้น

ถ้าจะดูงานไม้ให้ได้อรรถรสต้องจับนะ ต้องเอามือสัมผัสงานแกะ เมื่อเราจับไป ขนของไม้จะฟูขึ้นมา จะสากที่มือ และบางชิ้นถูกแกะลงไปลึก คนที่สัมผัสจะรู้ได้ว่า ขณะที่เราทำ เราตั้งใจขนาดไหน บางชิ้นที่ลึกมากก็มีจนมีคนถามว่า งานชิ้นนี้ปั้นหรือเปล่า

งานแกะไม้จึงเป็นงานที่เหนื่อย แลกมาด้วยหลายสิ่ง ถ้าคิดจะทำต้องรักก่อน พอรักแล้วจะเปิดใจรับหมด เวลาที่มันมีปัญหาจะคลี่คลายด้วยดี สังเกตดูว่าสิ่งไหนที่เราไม่รักและเราทำอยู่ แค่ปัญหานิดเดียว จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ แต่สิ่งไหนที่เรารัก เราชื่นชอบ เราพร้อมที่จะลุย ปัญหาใหญ่แค่ไหนก็จะเล็กนิดเดียว ต้องถามใจตัวเองก่อนว่ารักหรือเปล่า หรือว่าเห็นคนทำแล้วเท่จึงอยากทำ”

จากนั้นก็ตามมาด้วยเรื่องของความอดทน เพราะไม่มีทางที่มือของเราจะมีรูปสวยอย่างเช่นแต่ก่อน ความหยาบ ข้อมือโปน คือสิ่งที่ตามมาติด ๆ แต่กระนั้นก็ดี สล่าแจงบอกว่านี่ไม่ใช่ปัญหาสำคัญของคนที่มีใจรักในเนื้อไม้เลย

ปัจจุบัน งานแกะไม้ยังไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ดังที่บอกไว้ว่านี่คือวิชาจากช่างสู่ช่าง สล่า คือภาษาพื้นเมืองของชาวล้านนาที่แปลว่าช่าง ดังนั้นหากแม้นมีใครสนใจก็สามารถหาเรียนได้ เพียงแต่ว่า คุณมีใจรักงานไม้เพียงใดเท่านั้น ถ้าสนใจ บรมครู คำอ้าย เดชดวงตา ซึ่งเป็นครูของสล่าเพชร วิริยะ ก็เปิดสอนอยู่ที่ องค์การป่าไม้เชียงใหม่
หรือค้นหาข้อมูลได้ที่ www.salahlanna.com  www.warindesign.com(ปัจจุบันปิดเว็บไซต์แล้ว)
ผลงาน ไม้แกะสลัก

ถนนสายไม้ ไม้แกะสลัก

งานไม้แกะสลัก ซอยประชานฤมิตร

ในปี 2522 ชาวจีนจากวัดญวน สะพานขาว ถนนดำรงรัก สะพานดำ วัดสระเกศและบางลำพู ได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในซอยประชานฤมิตรและซอยไสวสุวรรณโดยนำอาชีพเดิมมา ด้วยคือ งานแกะสลักเครื่องไม้
ด้วยฝีมือที่ประณีตสวยงามและมีการสืบทอดมาโดยตลอด จึงทำให้บ้านเกือบทุกหลังในซอยนี้มีอาชีพแกะสลักงานเครื่องไม้ และกลายเป็นแหล่งชุมนุมโรงงานผลิตเครื่องตกแต่งไม้สำเร็จรูป แม้ว่างานส่วนใหญ่จะใช้เครื่องจักรผลิต แต่งาน แกะสลักไม้ ที่เป็นลวดลายไทยก็ยังคงต้องใช้แรงงานฝีมือ
นอกจากนี้ยังรับผลิตงานตามสั่ง โดยราคาจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของชิ้นงาน สินค้าที่นี่จะมีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปถึงร้อยละ 30 เพราะเป็นแหล่งผลิตโดยตรงและเป็นศูนย์รวมสินค้าจากแหล่งผลิตอื่น รวมทั้งผลิตภัณฑ์ไม้ยางจากโรงงานต่างๆ ฯลฯ
ปัจจุบันมีร้านค้าเรียงรายอยู่สองฝั่งถนมากกว่า 200 ร้าน จำหน่ายตั้งแต่ของตกแต่งบ้านเล็กๆ ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ขนากใหญ่ ถือเป็นแหล่งรวมเครื่องตกแต่งไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยจนได้รับการขนาน นามว่า “ถนนเฟอร์นิเจอร์”

นอกจากนี้ยังรับผลิตงานตามสั่ง โดยราคาจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของชิ้นงาน สินค้าที่นี่จะมีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปถึง
ร้อยละ 30 เพราะเป็นแหล่งผลิตโดยตรงและเป็นศูนย์รวมสินค้าจากแหล่งผลิตอื่นรวมทั้งผลิตภัณฑ์ไม้ยางจากโรงงานต่างๆ ฯลฯ
ปัจจุบันมีร้านค้าเรียงรายอยู่สองฝั่งถนน มากกว่า 200 ร้าน จำหน่ายตั้งแต่ของตกแต่งบ้านเล็กๆ ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ขนากใหญ่
ถือเป็นแหล่งรวมเครื่องตกแต่งไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จนได้รับการขนานนามว่า ถนนเฟอร์นิเจอร์

อาชีพไม้แกะสลัก-ผลกระทบทางสุขภาพ

ผลกระทบทางสุขภาพอาชีพ ไม้แกะสลัก
กรณีศึกษาบ้านถวาย ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัด เชียงใหม่
Author: นางอุบล สิงห์แก้ว

วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบทางสุขภาพใน 4 มิติ คือ ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสังคม และด้านวิญญาณของประชาชนจากการประกอบอาชีพ ไม้แกะสลัก บ้านถวาย ตำบล ขุนคง อำเภอ หางดง จังหวัด เชียงใหม่ กลุ่มตัวอย่างในการศึกษา คือผู้ประกอบอาชีพ ไม้แกะสลัก จำนวน 180 คน ประชาชนทั่วไปจำนวน 60 คนโดยการสุ่มตัวอย่างแบบอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือแบบสัมภาษณ์ แนวคำถามการจัดสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์เชิงลึก และแบบสังเกตบริบทชุมชน โดยผ่านการตรวจสอบความตรงของเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่านและนำแบบสัมภาษณ์ไปหาความเชื่อมั่น โดยแบบสัมภาษณ์ผู้ประกอบอาชีพได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.88 ประชาชนทั่วไป ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.77 รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง การสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตการสนทนากลุ่ม และการจัดเวทีนำเสนอผลการศึกษา

1. ผลกระทบทางกายด้านบวก คือการที่ได้ทำงานอยู่ในหมู่บ้านทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุในการเดินทางไปทำงาน ผลกระทบด้านลบในกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบอาชีพ ไม้แกะสลัก ได้แก่การเจ็บป่วยในระบบกล้ามเนื้อและโครงร่าง รองลงมาได้แก่อาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ การได้รับบาดเจ็บ หรืออุบัติเหตุจากการทำงานจำนวนมากที่สุด ได้แก่สารเคมีกระเด็นเข้าปาก เข้าตา หรือถูกผิวหนัง รองลงมาได้แก่การถูกสิ่วบาดมือ ในกลุ่มประชาชนทั่วไปได้แก่อาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ รองลงมาได้แก่การเจ็บป่วยในระบบทางเดินหายใจ
2. ผลกระทบทางจิตใจด้านบวก พบว่าในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพ ไม้แกะสลัก มีความพึงพอใจที่ได้ประกอบอาชีพ ไม้แกะสลัก และรู้สึกมีความสุขเมื่อมีรายได้ที่สามารถใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการผลิตสินค้า และใช้จ่ายในครอบครัวอย่างเพียงพอ สำหรับในกลุ่มประชาชนทั่วไปมีความพึงพอใจที่มีการประกอบอาชีพในหมู่บ้าน เนื่องจากทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ผลกระทบด้านลบพบว่าประชาชนที่ประกอบอาชีพ ไม้แกะสลัก ส่วนใหญ่จะมีความเครียด หรือมีความทุกข์ เนื่องจากรายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย ภาระหนี้สิน รวมทั้งการที่มีโอกาสได้สัมผัสกับสิ่งคุกคามต่างๆ เช่น ฝุ่นละอองไม้ สารเคมี การทำงานด้วยท่าทางเดิมๆ ซ้ำๆ ภาวะเสียงดังจากเครื่องมือ และแสงสว่างจ้าเกินไปในขณะทำงาน สำหรับในกลุ่มประชาชนทั่วไปมีความเครียดเนื่องมาจากที่มีโอกาสได้สัมผัสกับสิ่งคุกคามต่างๆ เช่นฝุ่นละอองไม้ สารเคมี รวมทั้งเสียงดังจากเครื่องมือที่ผู้ประกอบอาชีพใช้ในขณะทำงาน
3. ผลกระทบทางสังคมด้านบวก พบว่า ในภาพรวมความสัมพันธ์ในระดับครอบครัวชุมชน มีความสัมพันธ์กันดี ไม่ค่อยมีเรื่องขัดแย้งกัน ประชาชนให้ความร่วมมือช่วยงานหมู่บ้านอย่างสม่ำเสมอ มีการรวมกลุ่มให้การช่วยเหลือกัน ผลกระทบด้านลบพบว่าการที่มีคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน และอาศัยในหมู่บ้านมากขึ้นทำให้ประชาชนมีความวิตกว่าจะเป็นพาหะนำโรคติดต่อมา และมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน
4. ผลกระทบทางสังคมทางจิตวิญญาณด้านบวก พบว่าในภาพรวมประชาชนส่วนใหญ่มีความภาคภูมิใจที่ได้ประกอบอาชีพการ แกะสลักไม้ มีการเข้าร่วมทำบุญ ประเพณีต่างๆ มีการเสียสละเพื่อช่วยงานส่วนรวมอย่างสม่ำเสมอ ผลกระทบด้านลบพบว่าวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปจากสังคมชนบท ไปสู่สังคมเมืองมากขึ้น ทำให้การแข่งชันในการค้าขายและการดำรงชีวิต ในอนาคตประชาชนอาจมีความเอื้ออาทรต่อกันน้อยลง มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น
5. ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม พบว่ามีฝุ่นละออง ขยะต่างๆ รวมทั้งขยะอันตรายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดเก็บขยะภายในหมู่บ้านยังเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขต่อไป

ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชนในการนำไปวางแผนในการดูแล และส่งเสริมสุขภาพ เพื่อลดภาวะเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการประกอบอาชีพ ไม้แกะสลัก

ไม้แกะสลักบ้านหลุก

ผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลักบ้านหลุก

หมู่บ้านท่องเที่ยวโอทอปไม้แกะสลัก บ้านหลุก ตั้งอยู่ที่ ตำบลนาครัว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ชุมชนบ้านหลุกมีความสามารถในการแกะสลักไม้สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ ในหมู่บ้านมีการแกะสลักไม้เป็นจำนวนมาก และก็มีร้านจำหน่ายสินค้าไม้แกะสลักภายในหมู่บ้าน รวมทั้งได้นำสินค้ามาจำหน่ายโดยแยกคูหากันกว่า 20 คูหา ในลานค้าชุมชน ตำบล นาครัว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดบ้านหลุก

บ้านหลุกเป็นหมู่บ้านที่ชื่อเสียงด้านแกะสลักของจังหวัดลำปาง แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เท่ากับบ้านถวายที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำอย่างไรให้รู้จักมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการสร้างสรรค์งานระหว่างศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญหาท้องถิ่นที่มีอยู่กับ การแกะสลักไม้ มีการอนุรักษ์การแกะสลักไม้ไว้ให้อยู่กับชาวบ้านหลุก ตลอดจนให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมมากขึ้น นอกจากนี้แล้วยังประสบปัญหาทั้งขาดแคลนวัตถุดิบ การพัฒนาฝีมือช่าง การตลาด เงินทุน และอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการปรับแก้ไขและพัฒนาศูนย์ฯแห่งนี้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการจัดเวทีสาธารณะครั้งนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หาแนวทางพัฒนาและยกระดับ ศูนย์แกะสลักไม้บ้านหลุก ให้มีศักยภาพที่จะสามารถแข่งขันได้ อันจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจที่ดีให้ประชาชนอำเภอแม่ทะต่อไป

ผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลักบ้านหลุก เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่ทำกันทั้งหมู่บ้านหลังจากว่างจากการทำนา เป็นการนำเอา ไม้จามจุรีหรือไม้ฉำฉามาแกะสลัก เป็นรูปกวาง สิงโต ม้า ดอกไม้ และอื่นๆอีกมากมาย มีทั้งจำหน่ายและส่งไปจำหน่ายต่างจังหวัด ห่างจากตัวจังหวัดลำปาง ไปยังอำเภอแม่ทะ ประมาณ 30 กิโลเมตร เมื่อถึงตังอำเภอจะมีป้ายบอกเลี้ยวซ้ายเข้าไปยังหมู่บ้านชื่อบ้านหลุก รถทุกชนิดสามารถเข้าไปถึง

แกะสลักไม้บ้านหลุก

ผลิตภัณฑ์ ไม้แกะสลัก บ้านหลุก

ปลุกชีวิต…แกะสลักไม้บ้านหลุก ศิลปแห่งภูมิปัญญาชาวลำปาง
เมื่อกล่าวถึง หมู่บ้านแกะสลักไม้ ที่สืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว ประชาชนในจังหวัดลำปางทุกคนต้องนึกถึงบ้านหลุก ต.นาครัวอ.แม่ทะ จังหวัดลำปาง แต่หากเป็นประชาชนในต่างจังหวัด หรือต่างประเทศต้องนึกถึงบ้านถวาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ทั้งที่สินค้าที่จำหน่ายที่บ้านถวายนั้น ที่เกิดจากการรังสรรค์วัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญาและจินตนาการของชาวบ้านหลุกที่ไปสร้างความร่ำรวยให้กับชาวจังหวัด เชียงใหม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าเป็นการสร้างเสริมรายได้ให้จังหวัดเชียงใหม่มี สภาพเศรษฐกิจที่ดี ในขณะที่บ้านหลุกนั้น กลับไม่ได้ยกฐานะทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นเท่าที่ควร สินค้าขายไม่ได้ และราคาไม่ดี รวมถึงสินค้าที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นถูกผู้ขายนำไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์

นาย ทักษิณ อัครวิชัย ผู้อำนวยการกองแผนและงบประมาณ องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ลำปาง กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว อบจ.ลำปาง สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่ทะ และธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาอำเภอแม่ทะ จึงได้ร่วมมือผนึกกำลังเพื่อจัดประชุมเวทีสาธารณะในหัวข้อเรื่องศูนย์แกะ สลักไม้บ้านหลุกขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ประชาชนบ้านหลุก และผู้เข้าร่วมงานได้ระดมสมอง และรวมพลังกันในการวิเคราะห์ปัญหา พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไข รวมถึงเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการแกะสลักไม้กับศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้อง ถิ่นของจังหวัดลำปางในแขนงอื่นๆ ตลอดจนเพื่อเป็นการจัดองค์ความรู้ และฐานข้อมูล ซึ่งจะทำให้เกิดแผนแม่บทของศูนย์แกะสลักไม้บ้านหลุก

ด้านนายศักดิ์ชัย จ.ผลิต นายอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าการแกะสลักไม้ของชาวบ้านหลุก ซึ่งจำหน่ายออกสู่ท้องตลาด และเป็นสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่ออย่างหนึ่ง กำลังประสบปัญหา ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้จักบ้านหลุก ต.นาครัว อ.แม่ทะ ดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา แต่รู้จักบ้านถวาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ทำอย่างไร ที่จะทำให้ศูนย์แกะสลักไม้บ้านหลุกเป็นที่รู้จักของประชาชนทั้งชาวไทยและ ต่างประเทศ ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์ระหว่างศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญหาท้องถิ่น แขนงอื่นๆ ที่มีอยู่ในจังหวัดลำปางกับการแกะสลักไม้ ทำอย่างไรที่จะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญหาการแกะสลักไม้ไว้ให้อยู่กับ ชาวบ้านหลุกต่อไป ทำอย่างไรที่จะทำให้การเดินทางเพื่อมาเยี่ยมชมศิลปะการแกะสลักไม้บ้านหลุก ประสบความสำเร็จและทำอย่างไรที่จะทำการเสนอปัญหาและแนวทางในการแก้ไขปัญหา ไม่อยู่ในแผ่นกระดาษเพียงอย่างเดียว และนำมาใช้งานได้จริง และสุดท้ายคือจะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดแผนแม่บทศูนย์แกะสลักไม้บ้านหลุกที่ สามารถขับเคลื่อนไปได้

ดังนั้น นับเป็นผลดีที่มีการประชุมเวทีสาธารณะ เพื่อรวมพลังและระดมสติปัญญาต่าง ๆ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะพัฒนา และยกระดับศูนย์แกะสลักไม้บ้านหลุก ให้มีศักยภาพที่สามารถแข่งขันได้ และสร้างให้เกิดภาวะเศรษฐกิจที่ดีให้กับชาวบ้านในบ้านหลุก ต.นาครัว อ.แม่ทะ ต่อไป

สำหรับในการจัดเวทีสาธารณะครั้งนี้ จัดขึ้นบริเวณลานค้าชุมชนวัดบ้านหลุก ต.นาครัว อ.แม่ทะ โดยได้มีการสรุปข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกลุ่มอุตสาหกรรมแกะสลักบ้านหลุก ซึ่งได้ชี้จุดอ่อน หรือปัญหาที่เผชิญ รวมถึงสิ่งที่ประสบ เพื่อจะหาแนวทางแก้ไขทั้งหมด 9 เรื่อง

อย่างไรก็ตามในส่วนของท้องถิ่นเองได้มีการตั้งโครงการเพื่อพัฒนาศูนย์ หัตถศิลป์บ้านหลุกลำปางขึ้น โดยหัตถกรรมพื้นบ้านงานช่างฝีมือแกะสลักไม้บ้านหลุก ต.นาครัว อ.แม่ทะ จังหวัดลำปาง เป็นวิชาชีพช่างที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตราบปัจจุบันด้วยอุปสรรคปัญหาด้านวัตถุดิบอันแก่ไม้ที่เริ่มจะขาดแคลนหาได้ ยากขึ้น แถมมีราคาแพง ช่างฝีมือรุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อยเข้ามาสู่วงงานสืบทอดวิชาชีพช่างแกะสลัก รายได้ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน อาจไม่จูงใจ ด้วยผลงานการผลิตในพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังให้ดำเนินการเป็นเพียงลักษณะ งานต้นน้ำ และมักจะถูกผู้ซื้อพื้นที่ตลาดอื่นนำไปขัดเกลาตกแต่งปลายน้ำแล้วนำไปจำหน่าย ได้ในราคาที่สูงกว่าเป็นทบเท่าทวีคูณ

ในแนวทางแก้ไข จำเป็นต้องจัดวางระบบการผลิตเชิงวิชาการในรูปแบบใหม่โดยสร้างกลุ่มทายาทร้าน ค้าผู้ผลิต และจำหน่ายไม้แกะสลัก มาพัฒนาสืบทอดต่อยอดธุรกิจไปยังงานฝีมืออื่นๆ เช่น งานปั้น งานหล่อ งานพิมพ์ ซึ่งได้แก่งานปูนปั้น เช่น รูปหล่อเทพี หรือเทพโรมันประดับตกแต่งสวน งานหล่อแบบศาลพระภูมิ งานปั้น ขึ้นแบบพิมพ์ดิน ผลิตเป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับตกแต่งเซรามิค งานพิมพ์งานหล่อเรซิน หล่อเทียนขี้ผึ้ง หรือมวลสารผสมอื่น โดยสามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มฝีมือช่างเกะสลักมาพัฒนาดำเนินการต่อยอดเนื้อหา งานให้กว้างไพศาล พร้อมเจาะในเชิงลึกละเอียดแต่ละระดับสาขาต่อๆ ไป ไม่สิ้นสุด

โดยส่วนหนึ่งเพื่อให้ยังคงประคองรักษาตลาดงานฝีมือเดิม อันเป็นรายได้หลักในการดำเนินการจำเป็นต้องคงปริมาณเนื้อหางานตลาดฝีมือดัง กล่าวไว้ มิให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของกลุ่มการผลิตวิชาชีพดังกล่าว อันได้แก่การพัฒนาฝีมือเพิ่มความละเอียดสวยงามของแต่ละชิ้นงานให้สามารถ เพิ่มพูนค่าราคาจำหน่าย ได้ตรงกับความต้องการของตลาดระดับบนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งต่อไปในอนาคตเชื่อว่างานฝีมือช่างต่างๆ จะค่อยๆ ปรับตัวผลิตชิ้นงานให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดเชิงคุณภาพที่เน้นความ ละเอียด ประณีตยิ่งๆ ขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่

ทั้งนี้เมื่องานถูกยกระดับด้านพัฒนาการเชิงแข่งขันจนสามารถขับเคลื่อนได้ อย่างเป็นรูปธรรม ช่องทางโอกาสในการขยายเครือข่ายงานจำเป็นต้องเชื่อมโยงพัฒนาการต่อไปยังงาน หล่อ งานพิมพ์ งานปั้น อื่นๆ ให้ไพศาลไปตามศักยภาพความพร้อมในแต่ละภาคส่วนของบรรดาพี่น้องชุมชนบ้านหลุก เพื่อให้สามารถรองรับได้ทันกับตลาดงานการผลิตอื่นๆ ในปัจจุบัน

ดังนั้นจึงเห็นสมควรเชื่อมโยงกับเครือข่ายผู้นำตลาดงานสำคัญต่างๆ ในพื้นที่อื่นโดยเฉพาะช่างฝีมืองานแกะสลักที่ละเอียดสวยงามยิ่งขึ้น ควรเข้ารับการถ่ายทอดแนะนำจากเจ้าของสถานที่บ้านร้อยอันพันอย่าง ของ อาจารย์ชรวย ณ สุนทร ตั้งอยู่บนถนนสายหางดงสันป่าตองจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีแสดงทั้งสินค้างานเครื่องปั้นดินเผาจากกลุ่มการผลิตเกาะเกล็ด จังหวัดประทุมธานี

สำหรับงานปั้น งานหล่อ งานพิมพ์อื่น สมควรเชื่อมโยงกับธุรกิจผู้ผลิตงานปูนปั้น เช่น ร้านอัศวศิลป์ ของ นายปฐมพงษ์ มั่นธนะกิจ และงานเซรามิค ของนายสุริยะพงษ์ ศรีอิ่นแก้ว ซึ่งเป็นตัวแทนธุรกิจการผลิตภายในอำเภอแม่ทะด้วยกัน หรืออาจเชื่อมโยงกับกลุ่มการผลิตที่สำคัญอื่นๆ ของจังหวัด หรือพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆ มาเรียนรู้ถ่ายทอดให้แก่กันตามศักยภาพ
source : siamrath.co.th

ประวัติการแกะสลักไม้ของบ้านหลุก

การแกะสลักไม้บ้านหลุก

มีผู้เล่าให้ ฟังว่านายจันดี แก้วชุ่ม ซึ่งเป็นชาวบ้านนาป้อ อำเภอเมือง จังหวัดลำปางได้มาแต่งงานมีครอบครัวอยู่ที่บ้านหลุก ตำบลนาครัว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ด้วยพื้นฐานของบรรพบุรุษที่เป็นช่าง (สล่า) อยู่แล้วได้ไปพบเห็นการแกะสลักไม้ ช้าง ม้า ขายที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย นายจันดีจึงได้ซื้อมาแล้วลองทำดู ปรากฏว่าสามารถทำได้เหทือนของที่ซื้อมา เพื่อนบ้านจึงเล่าขานกันไปทั่วหมู่บ้าน ต่อมามีพ่อค้าคนกลางที่ค้าขายเสื้อผ้าพื้นเมืองที่กรุงเทพได้มาเห็นและได้ขอ ซื้อช้าง ม้า ที่นายจันดีไม้แกะสลักไปขายที่กรุงเทพฯ ปรากฏว่าขายดี จึงได้สั่งให้แกะสลักไม้ มากขึ้นเรื่อย ๆ

ต่อมาเพื่อนบ้าน 3-4 คน ได้ขอให้ นายจันดี ช่วยสอนแกะสลักไม้ให้ ด้วยจิตใจที่โอบอ้อมอารีของนายจันดีที่มีอยู่เดิม จึงได้ทำการสอนการแกะสลักไม้ให้เพื่อนบ้านเหล่านั้นโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และยังช่วยเหลือเรื่องตลาดให้ด้วย ศิษย์รุ่นแรก ได้นำความรู้ไปสอนลูกหลานบ้านหลุก ปัจจุบันหมู่บ้านหลุกเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในด้านการแกะสลักไม้ของ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง การแกะสลักไม้ของบ้านหลุกจัดเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนโดยทุกคนในครอบครัวจะ ช่วยกันทำโดยมีการแบ่งหน้าที่กันนับเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรให้การสนับสนุนและ อนุรักษ์ให้เป็นของดีคู่เมืองลำปางต่อไป จากผลงานการแกะสลักไม้ที่บ้านหลุกและความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ด้านการ แกะสลักไม้ของนายจันดี ทำให้นายจันดีได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถให้ ไปสอนแกะสลักที่ศูนย์ศิลปาชีพที่บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากนั้นยังได้เคยสาธิตการแกะสลักไม้ในงานฤดูหนาวและงานกาชาดจังหวัดลำปาง และมีนิตยสารหลายฉบับได้นำเรื่องการแกะสลักไม้ของนายจันดีไปลง เช่น นิตยสาร Life and Decor ปัจจุบันบ้านหลุกเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าที่สำคัญของจังหวัดลำปางด้านการ แกะสลักไม้ ให้กับนักศึกษาของมหาววิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยาลัยโยนกและสถาบันราชภัฏลำปาง รวมทั้งผู้สนในทั่วไป
โดย ดนัย ศรีประเสริฐ

งานแกะสลักไม้ที่บ้านหลุก

ประเภทของการแกะสลักไม้ปัจจุบันงานแกะสลักไม้ที่บ้านหลุกซึ่งทำด้วยมือ มีอยู่ 3 ประเภท ดังนี้
1. การแกะสลักเป็นสัตว์ชนิดต่าง ๆ ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า โยส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ 4 เท้า ตัวอย่างเช่น ช้าง ม้า กระทิง เป็นต้น
2. การแกะสลักไม้ เป็นพืชและดอกไม้ เช่น กล้วยไม้ และดอกไม้ชนิดต่าง ๆ
3. การแกะสลักเป็นของใช้ และของประดับบ้าน เช่น ขันน้ำ พานรอง พาย รถมอเตอร์ไซด์ หัวอินเดียนแดง เป็นต้น

ขั้นตอนการแกะสลัก
การแกะสลักไม้ของชาวบ้านหลุก มีขั้นตอนโดยสรุปดังนี้

1. เลือกไม้ฉำฉา (จามจุรี) ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้น นำมาตัดเป็นท่อนตามขนาดที่ต้องการ
2. วาดรูปสัตว์ ดอกไม้ หรือของใช้ที่ต้องการแกะสลักลงบนท่อนไม้
3. ใช้เลื่อย มีด และสิ่ว ถากเพื่อขึ้นรูปตามแบบที่วาดไว้
4. นำชิ้นงานที่ขึ้นรูปแล้วไปเข้าเตาอบประมาณ 3-5 วัน เพื่อให้ไม้แห้ง
5. นำชิ้นงานที่อบแล้วมาขัดด้วยกระดาษทรายให้ผิวเรียบ
6. ใช้สีฝุ่นทากระพี้ไม้ให้เป็นสีเดียวกันกับเนื้อไม้
7. ทาสีชิ้นงานด้วยสี Emulsion ตามต้องการแล้วทิ้งไว้ให้แห้ง
8. ลงWax ที่ชิ้นงานให้ทั่วและขัดตกแต่งอีกเล็กน้อย
โดย ดนัย ศรีประเสริฐ