ประวัติบ้านถวาย


ศิลปหัตถกรรมบ้านถวาย

ประวัติบ้านถวาย  เมื่อประมาณพันกว่าปีที่ผ่านมา ดินแดนบ้านถวายแห่งนี้ สันนิษฐานว่าเคยเป็นชุมชนโบราณที่เป็นส่วนหนึ่งของเวียงละโว้ (ปัจจุบันคือบ้านละโว้ ตำบลหนองแก๋ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของนครหริภุญไชย (จังหวัดลำพูน) ต่อมา พญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ได้ยึดครองนครหริภุญไชย เวียงละโว้จึงมีความสำคัญน้อยลงและล่มสลายไปในที่สุด ปัจจุบันยังคงปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นโบราณสถาน คือ ซากวัดร้างในบริเวณวัดถวาย และวัดต้นแก้วตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

การก่อกำเนิด ของชุมชนในสมัยโบราณโดยทั่วไป มักมีจุดเริ่มต้นจากการบุกเบิกพื้นที่เพื่อทำมาหากินของผู้คน เมื่อผู้คนมีมากขึ้นก็รวมกันจัดตั้งเป็นชุมชนหรือหมู่บ้าน การก่อตั้งชุมชนบ้านถวายก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะสมกับการเกษตรกรรม ทำให้ผู้คนอพยพเข้ามาทำมาหากินในบริเวณนี้และตั้งเป็นชุมชนเล็กๆ อยู่กันเป็นหย่อมบ้าน คือ บ้านถวายใน และบ้านถวายนอก ต่อมาเมื่อจำนวนผู้คนเพิ่มมากขึ้นจึงกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ดังเช่น ปัจจุบัน

คำว่า “ บ้านถวาย ” มีที่มาจากหลายแหล่ง คือ จากคำบอกเล่า และจากหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ จากคำบอกเล่าของคนในท้องถิ่นประเด็นแรกสรุปได้ว่า แต่เดิมในหมู่บ้านมีต้นหวายเป็นจำนวนมาก คนในชุมชนจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ ต้าหวาย ” อีกประเด็นหนึ่งมาจากชื่อของเศรษฐีที่ชื่อ “ วาย ” ซึ่งเป็นผู้สร้างหรือบูรณะวัดในหมู่บ้าน และจากหนังสือ “ รายชื่อวัดและนิกายสงฆ์โบราณในเมืองเชียงใหม่ ” พบว่ามีวัดหนึ่งชื่อ “ ธวาย ” ตั้งอยู่หมู่บ้าน “ ธวาย ” สันนิษฐานว่าน่าจะเพี้ยนมาเป็น “ ถวาย ” อันเป็นชื่อของวัดถวายและบ้านถวายในปัจจุบัน

บ้านถวายในปัจจุบัน
บ้านถวาย ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ มีอาณาเขต ติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียง ดังนี้
แผนผังแสดงที่ตั้งบ้านถวาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านป่าหมาก หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านต้นแก้ว หมู่ที่ 1 ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านกลาง หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านหนองโขง หมู่ที่ 3 ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
มีพื้นที่ทั้งหมด 450 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่การเกษตรประมาณ 238 ไร่ พื้นที่ที่อยู่อาศัยประมาณ 207 ไร่ และพื้นที่สาธารณะ ประมาณ 5 ไร่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมือง นับถือศาสนาพุทธ และใช้ภาษาถิ่น (คำเมือง) ในการพูดสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน

จากวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านถวายที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร ต่อมาได้มีผู้นำเอางานแกะสลักไม้เข้ามาสู่หมู่บ้านและเป็นอาชีพเสริมของชาว บ้าน มีการถ่ายทอดงานศิลปะการแกะสลักไม้และงานศิลปะแขนงอื่นที่เกี่ยวข้องสืบต่อ กันมาอย่างแพร่หลายกว้างขวางยิ่งขึ้น จนกลายเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน นอกจากนี้ ยังได้รับการส่งเสริมจากทั้งภาครัฐและเอกชนให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว ทำให้งานศิลปหัตกรรมของหมู่บ้านถวายได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ จนสามารถพัฒนาขึ้นเป็นธุรกิจการค้าที่สำคัญของตำบล( OTOP ) ที่ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง และเกี่ยวข้องผูกพันกับวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมากในปัจจุบัน

ที่มา : ศิลปหัตถกรรมบ้านถวาย เอกสารกลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพท.เชียงใหม่ เขต 4 เอกสารลำดับที่ 38/2548

btemplates