รักแท้ โดยจันทนา แจ่มทิม

จันทนา แจ่มทิม ศิลปินที่ใช้เทคนิคการลงรักปิดทองแบบโบราณ

จันทนา แจ่มทิม ศิลปินที่ใช้เทคนิคการลงรักปิดทองแบบโบราณ
รักแท้ ใน ลายรดน้ำ
จันทนา แจ่มทิม เธอพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะได้พบ รักแท้ และรักษาให้รักแท้คงอยู่คู่เมืองไทยตลอดไป

รักแท้  ที่จันทนากำลังตามหา และเสมือนว่าเธอมีชีวิตอยู่อย่างที่เธออยากเป็นได้ ก็คือ ต้นรัก (ไม้ยืนต้น วงศ์เดียวกับมะม่วง) ที่กรีดบริเวณลำต้นแล้วให้ผลิตผลเป็น ยางรัก ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะ ลายรดน้ำ

เช่นนั้นแล้วรักแท้ในที่นี้ไม่เกี่ยวกับ “ความรัก” แต่จะว่าไปแล้วก็มีเอี่ยวเหมือนกัน เพราะการที่จันทนาต้องตามหารักแท้นั้นเป็นผลมาจาก “ลายรดน้ำ” งานจิตรกรรมที่ปรากฏตัวอยู่บนพื้นผิวของ “งานช่างรัก” กำลังเกิดวิกฤตขาดแคลน “รัก” ทั้ง “ยางรัก” (รูปวัตถุ) และ “ความรัก” (นามวัตถุ) ที่เป็นเหตุให้การสร้างสรรค์ศิลปะลายรดน้ำกำลังลดน้อยและกำลังจะถูกลืมเลือน

เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่จันทนาผูกพันอยู่กับงานศิลปะลายรดน้ำ นับตั้งแต่เรียนที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เอกศิลปะไทย จนกระทั่งสำเร็จการศึกษามาเป็นอาจารย์ และในขณะนี้เธอเลือกที่จะเป็นศิลปินอิสระ ที่พร้อมทุ่มเทกายใจให้กับการสร้างสรรค์ สืบสาน อนุรักษ์ ศิลปะลายรดน้ำและยางรัก

“ตอนเรียนเราต้องหาตัวเองให้เจอ ต้องรู้จักตัวเองเพื่อที่จะสร้างงาน แล้วปรากฏว่าเราชอบเขียนลายเส้น เพราะลายเส้นแสดงออกได้อย่างลึกล้ำ การเขียนเส้นมีทั้งดุดัน ละเอียดอ่อน นั่นใช่เราเลย เปรียบเหมือนการพรรณนาโวหาร ลายรดน้ำรองรับความรู้สึกและแสดงออกถึงความเป็นตัวเราได้” จันทนา กล่าวถึงวิถีการทำงานศิลปะที่เธอทุ่มเท

“บ่มรัก...ด้วยรักแท้” นิทรรศการที่จัดแสดงงานจิตรกรรมลายรดน้ำ เป็นการรวบรวมผลงานเก่าของจันทนาและงานที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ด้วยเทคนิคเดิม แต่มีการคลี่คลายรูปแบบ โดยเนื้อหาของนิทรรศการถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 จัดแสดงผลงานจิตรกรรม และส่วนที่ 2 จัดแสดงงานศิลปะจัดวาง (Installation) และกระบวนการทำงานของศิลปิน (Process Art) ซึ่งเสมือนเป็นการยกเอาห้องทำงานส่วนตัวของศิลปินมาไว้ในนิทรรศการให้ผู้ชม ได้เห็น

ไม่ว่าจะชื่นชมผลงานจิตรกรรมลายรดน้ำที่สวยตระการตา หรือเยี่ยมชมกระบวนการทำงานก่อนที่จะสำเร็จเป็นจิตรกรรมสักชิ้น หากแต่สิ่งที่ศิลปินหวังยิ่งนักต่อผู้ชมนั่นคือ ต้องการให้ทุกคนได้เห็นถึงคุณค่าแห่งความพยายามในการสร้างสรรค์ ด้วยความยากลำบากและความพิถีพิถันในกระบวนการทำงาน ไม่ง่ายนักที่จะได้ผลงานแต่ละชิ้นออกมา หากแต่คุ้มค่าแห่งการรอคอยและควรค่าแก่การอนุรักษ์

ปฏิเสธไปไม่ได้ว่ายังมีสายตาหลายคู่ ความคิดจากหลายผู้คนที่มองว่า ศิลปะแนวลายรดน้ำนั้นเฉิ่มเชย ส่งผลให้มีศิลปินที่จะสร้างสรรค์งานแนวนี้น้อย ยังผลให้มีงานศิลปะลายรดน้ำออกมาสู่สายตาประชาชนน้อยตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้จันทนาในฐานะผู้สร้างงานศิลปะในวิถีของศิลปิน – ไม่ใช่ช่าง จึงได้นำเสนอกระบวนวิธีเฉกช่างโบราณ แต่มีรูปแบบและแนวทางเช่นศิลปินร่วมสมัย

“มั่นใจมาตลอดว่าสามารถใช้เทคนิคโบราณมาสร้างสรรค์งานร่วมสมัยได้ อย่างงานที่ทำไม่มีรูปไหนที่เป็นลายไทยเลย เป็นงานฟอร์มธรรมชาติ อย่าง ใบโพธิ์ ก็เป็นงานแนวสัญลักษณ์อยู่แล้ว ฟอร์มสามเหลี่ยมก็เป็นสากล ส่วนผลงานที่ชื่อ กำเนิดจากความดี เราก็เล่นกับพื้นของลายรดน้ำ ขบวนการของลายรดน้ำ สมุก (ดิน อิฐ ดินสอพอง ถ่าน ใบตองแห้ง ฯลฯ ป่นเป็นผงผสมกับยางรักให้เหนียว ทาทับบนพื้นวัตถุเพื่อเตรียมผิว) ซึ่งสวยโดยธรรมชาติ

เทคนิคโบราณเวลาป้ายสมุกเพื่อทำลายรดน้ำจะต้องลงพื้นเรียบ แต่เราก็สร้างสรรค์เอาสมุกมาเพนต์ ทำเทกซ์เจอร์ตรงสมุกก่อน ก็ป้ายสมุกให้เป็นริ้วน้ำ เพราะเราเห็นความงามของกระบวนการ เราก็เอามาใช้ในงาน ให้เขาเป็นพระเอกบ้าง ไม่ใช่อยู่ข้างใต้อย่างเดียว ซึ่งเรียกเทคนิคนี้ว่า เทคนิคผสมจิตรกรรมรักสมุกลายรดน้ำ

อย่างไรก็ตาม ลายรดน้ำเป็นเทคนิคไทยโบราณ ชูประเด็นความเป็นชาติได้ ถึงจะทำสากลยังไง ทำแบบฟรีฟอร์ม หรือสาดสียังไง ความเป็นไทยก็แรง เพราะเทคนิคมันแรง”

ศิลปะ “ลายรดน้ำ” แทบจะไม่เป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ด้วยหลายสาเหตุ นอกจากกรรมวิธีในการทำจะยุ่งยากซับซ้อนแล้ว วัสดุประเภททองคำก็มีราคาสูง แถมในปัจจุบันยางรักยังหายาก จึงเป็นที่มาของ “โครงการตามหารักแท้”

“ตอนนี้เราซื้อรักจากเชียงใหม่ที่นำเข้ามาจากพม่าอีกที ตอนนี้ยางรักส่วนใหญ่ก็ไม่แท้แล้ว จะมีการผสมน้ำมันยาง คุณสมบัติของความเป็นรักที่ใส มันวาว จะน้อยลง พอผสมอย่างอื่นก็ไม่ค่อยเหนียว ก็ต้องหาซื้อรักแท้และราคาสูง กิโลกรัมละ 1,500 บาท ซึ่ง 1 กิโลกรัม ยังใช้ทำงานไม่ได้ถึงชิ้นเลย ส่วนทองคำเปลว ภาพขนาด 1.20 x 1.80 เมตร ใช้ประมาณ 3,000 แผ่น ซึ่งตกแผ่นละ 5 บาท ราคาก็ขึ้นอยู่กับตลาดโลกอีกที”

งานศิลปะที่เกิดจากความรัก จึงไม่มีเพียงนิทรรศการ “บ่มรัก...ด้วยรักแท้” เท่านั้น หากยังมีการรณรงค์ต่อเนื่อง ในกิจกรรมจัดพิมพ์หนังสือ “ลายรดน้ำ” ในช่วงสิ้นปีนี้ เพื่อจัดจำหน่ายและจะนำไปจ่ายแจกยังสถานศึกษา และหน่วยงานราชการด้านศิลปะทั่วประเทศ ขณะที่กิจกรรมโรดโชว์ “ตามหารักแท้” ตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึง ธ.ค. ปีหน้าจะตามมาติดๆ

กิจกรรมโรดโชว์ “ตามหารักแท้” ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศนั้น มีวัตถุประสงค์ตามหาต้นรักที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมให้มีการปลูกเพิ่มมากขึ้น เพื่อจะได้ไม่ต้องอาศัยยางรักจากพม่า อีกทั้งยังเป็นการหารายได้เสริมให้กับเกษตรกรอีกด้วย โดยในส่วนนี้ยังรวมไปถึงการจัดเวิร์กช็อป อบรมการทำ “ลายรดน้ำ” อย่างถูกวิธี ให้ครูอาจารย์ผู้สอนศิลปะและนักวิชาการด้านศิลปะของกระทรวงศึกษาธิการ

ศิลปะ “ลายรดน้ำ” จะไม่สูญหายไปจากประเทศไทย หากคนไทยยังมีความรักในงานศิลปะ แล้วยังมีคนที่พร้อมจะสร้างสรรค์งานศิลปะแนวนี้ ที่สำคัญซึ่งขาดไปไม่ได้ก็คือ ทองคำ และ รักแท้

 ลายรดน้ำ … กระบวนการแห่งชีวิต
… ภายใต้ … ลวดลาย…เปลวระยับ
คือความงาม อันซับซ้อน ทรงคุณค่า
ระหว่างทาง … ระหว่างการณ์ … ระหว่าง … ระยะเวลา
หากเพียงจะค้นหา …ด้วยจิต, วิญญาณตน …

btemplates