ต้นรักกับรักแท้

ต้นรักใหญ่
ต้นรัก กับรักแท้

การศึกษายางรักใหญ่ เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย เรื่องงานยางรักของไทย ซึ่งปัจจุบันกำลังจะสูญหายไป เนื่องจากงานลงรักปิดทองมีความเกี่ยวข้อง และมีความสำคัญต่องานช่างฝีมือของไทยโดยตรง โดยเฉพาะงานช่างประดับมุข งานช่างหัวโขน งานช่างเขียน และเครื่องเขิน

จากการศึกษาวิจัยยางรักในหลายประเทศ พบว่า ยางรักในประเทศไทยมีประสิทธิภาพในการนำมาใช้ในงานช่างฝีมือมากที่สุด ซึ่งพบมากในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ขณะนี้มีการปลูกน้อยลง จะเกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว อีกทั้งขณะนี้คนไทยได้นำเข้าวัสดุทางเคมี จากต่างประเทศ มาใช้แทนยางรักแล้ว จึงทำให้คนเห็นความสำคัญของยางรักน้อยลง หรือบางคนแทบจะไม่รู้จักยางรักเลย ดังนั้น กรมศิลปากรจะร่วมมือกับกรมป่าไม้ พัฒนาสายพันธุ์ต้นรักใหญ่ให้มีคุณภาพ เพื่อที่จะนำผลผลิตส่งออกต่างประเทศได้ แทนการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งจะกระตุ้น และรณรงค์ให้คนไทยหันมาปลูกต้นรักใหญ่ให้มากขึ้น

ต้นรัก เป็นไม้ยืนต้นอยู่ในวงศ์ไม้มะม่วง (Anacardiaceae) เป็นคนละชนิดกับต้นรัก Calotropis gigantean linn ซึ่งเป็นไม้พุ่มอยู่ในวงศ์ Asclepiadaceae ออกดอกเป็นช่อกลีบดอกสีม่วงหรือขาว ระยางรูปมงกุฎ นำมาใช้ร้อยพวงมาลัย ต้นรักหรือต้นไม้ในวงศ์มะม่วงมีอยู่ ๒ สกุล ที่ใช้เจาะเก็บยางรัก คือ สกุล Rhus และสกุลไม้รักใหญ่ (Melanorrhoea) ต้นรักในสกุลไม้รักใหญ่ มีอยู่ด้วยกัน ๔ ชนิด คือ ต้นรักใหญ่ (Melanorrhoea ustata) รักน้ำเกลี้ยง (Melanorrhoea laccifera) รักเขา (Melanorrhoea pilosa) และรัก (Melanorrhoea glabra)

แต่ต้นรักที่มีความสำคัญและใช้เจาะเก็บยางรัก เพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรมเครื่องรักและเครื่องเขินของไทยและพม่า คือ ต้นรักใหญ่ การนำยางรักจากต้นรักมาใช้ ทำด้วยการกรีดหรือสับด้วยมีดที่ลำต้นรักให้เป็นรอยยาวๆ ยางรักจะไหลออกมาตามรอยที่กรีดและสับนั้น แล้วจึงนำภาชนะเข้ารองรับน้ำยางเป็นคราวๆ และเก็บรวบรวมไว้ใช้งานต่อไป ยางรักนี้บางแห่งเรียกว่า น้ำเกลี้ยง หรือ รักน้ำเกลี้ยง ยางรักแต่ละชนิดที่ช่างรักจะใช้ประกอบในการทำงานเครื่องรักมีอยู่หลายชนิด ดังมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน
ต้นรักใหญ่
รัก เป็นยางไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งชนชาติที่อาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย รู้จักนำมาใช้ในการเคลือบและตกแต่งผิวของวัตถุตั้งแต่สมัยโบราณ โดยใช้ยางรักในการเคลือบสิ่งของเครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุประเภทต่างๆ เช่น ไม้ เครื่องจักสาน หนัง ผ้า โลหะ เครื่องปั้นดินเผา หิน เป็นต้น เมื่อยางรักแข็งตัวแล้วจะมีคุณสมบัติป้องกันน้ำซึม และทนต่อสภาพของดินฟ้าอากาศ
ต้นรัก

ผล และดอก ของต้นรักใหญ่
รักดิบ คือ ยางรักสดที่ได้จากการกรีดหรือสับจากต้นรัก ลักษณะเป็นของเหลวสีขาวเมื่อทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลไหม้ รักดิบนี้จะต้องผ่านการกรองให้ปราศจากสิ่งสกปรกปะปน และจะต้องได้รับการขับน้ำที่เจืออยู่ตามธรรมชาติในยางรักให้ระเหยออกตามสมควรเสียก่อน จึงจะนำไปประกอบงานเครื่องรักได้

รักน้ำเกลี้ยง คือ รักดิบที่ผ่านการกรองและได้รับการซับน้ำเรียบร้อยแล้ว เป็นน้ำยางรักบริสุทธิ์ จึงเรียกว่า รักน้ำเกลี้ยง เป็นวัสดุพื้นฐานในการประกอบงานเครื่องรักชนิดต่างๆ เช่น ผสมสมุก ถมพื้น ทาผิว

รักสมุก คือ รักน้ำเกลี้ยงผสมกับสมุก มีลักษณะเป็นของเหลวค่อนข้างข้น ใช้สำหรับอุดแนวทางลงพื้นและถมพื้น

รักเกลี่ย คือ รักน้ำเกลี้ยงผสมกับสมุกถ่านใบตองแห้งป่น บางทีเรียกว่า สมุกดิบ ใช้เฉพาะงานงานอุดรู ยาร่อง ยาแนวบนพื้นก่อนทารัก สำหรับปิดทองคำเปลว

รักเช็ด คือ รักน้ำเกลี้ยง นำมาเคี่ยวบนไฟอ่อนๆ เพื่อไล่น้ำให้ระเหยออกมากที่สุด จนได้เนื้อรักข้นและเหนียวจัด สำหรับใช้แตะ ทา หรือเช็ด ลงบนพื้นแต่บางๆ เพื่อปิดทองคำเปลว หรือทำชักเงาผิวหน้างานเครื่องรัก

รักใส คือ รักน้ำเกลี้ยงที่ผ่านกรรมวิธีสกัดให้สีอ่อนจาง และเนื้อโปร่งใสกว่ารักน้ำเกลี้ยง สำหรับใช้ผสมสีต่างๆ ให้เป็นรักสี

รักแต่ละชนิดดังที่กล่าวมานี้ ล้วนมีที่มาจาก รักดิบ ทั้งสิ้น รักแต่ละชนิดจะมีคุณภาพมากหรือน้อยก็ดี นำมาประกอบงานเครื่องรักแล้วจะได้งานที่ดี มีความคงทนถาวรเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติพื้นฐานของรักดิบ ที่ช่างรักจะต้องรู้จักเลือกรักดิบที่มีคุณภาพดีมาใช้
ลายรดน้ำ โดย จันทนา แจ่มทิม

ลวดลายปิดทองรดน้ำบนตู้พระธรรม วัดเซิงหวาย สมัยอยุธยา
สมุก เป็นวัสดุที่มีลักษณะเป็นผง หรือป่นเป็นฝุ่น สมุกที่ใช้ในงานเครื่องรักแบบไทยประเพณีอย่างโบราณวิธี มีอยู่ด้วยกัน ๒ ชนิด คือ

- สมุกอ่อน สมุกชนิดนี้ ได้แก่ ผงดินสอพอง ผงดินเหนียว เลือดหมูก้อน อย่างใดอย่างหนึ่ง ผสมกับรักน้ำเกลี้ยง ตีให้เป็นเนื้อเดียวกัน ใช้ทารองพื้นที่ต้องการ รองพื้นบางๆ และเรียบ

– สมุกแข็ง ได้แก่ ผงถ่านใบตองแห้ง ผงถ่านหญ้าคา ผงปูนขาว อย่างใดอย่างหนึ่ง ผสมกับรักน้ำเกลี้ยง ตีให้เป็นเนื้อเดียวกัน ใช้ทารองพื้นที่ต้องการรองพื้นหนาและแข็งแรงมาก

ต้นรัก มีขึ้นอยู่ทั่วไปในประเทศเวียดนาม พม่า ญี่ปุ่น และประเทศไทย ซึ่งในประเทศไทยมีมากทางภาคเหนือ เช่น ที่เชียงใหม่ เชียงราย และทางภาคใต้ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งยางรักที่ได้จากที่นี่จะมีคุณภาพดี ส่วนในทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมียางรักที่ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี แต่เป็นยางรักที่ไม่ค่อยจะมีคุณภาพนัก
วิธีการคัดเลือกยางรัก
การคัดเลือกรักเป็นสิ่งสำคัญต่อการประกอบงาน เพราะรักที่มีขายตามท้องตลาดมิใช่ว่าจะเป็นรักที่บริสุทธิ์ทั้งหมด อาจมีส่วนอื่นผสมเพื่อเพิ่มปริมาณก็ได้ เช่น น้ำมันดิน น้ำมันยาง หรือน้ำเปล่า เวลาซี้อเพื่อที่จะได้รักที่มีคุณภาพที่ดีนั้น อาจจะทดสอบง่ายๆ ได้ดังนี้

๑. ใช้นิ้วมือแตะยางรักขยี้และดมกลิ่นของรัก ถ้าบริสุทธิ์จะไม่มีกลิ่นน้ำมันดิน น้ำมันสน หรือน้ำมันยาง

๒. ใช้ไม้พายจุ่มลงไปในยางรัก แล้วยกขึ้นปล่อยให้ยางรักไหลกลับลงไปจากไม้พาย ถ้าเป็นรักที่บริสุทธิ์จะไหลติดต่อลงเป็นเส้นเสมอกัน ถ้าไม่บริสุทธิ์ยางรักจะไหลขาดลงเป็นตอน

๓. ใช้นิ้วมือแตะยางรัก แล้วนำไปทาลงบนแผ่นกระจก ยางรักที่มีคุณภาพดีจะทาได้เรียบเสมอกัน ถ้าไม่บริสุทธิ์จะทาลงแผ่นกระจกแล้วไม่ค่อยเรียบ

๔. ถ้ายางรักแห้งเร็วกว่าปกติ มักจะเป็นยางรักที่ถูกผสมด้วยน้ำมันสนมากเกินความต้องการ และมีคุณสมบัติ (คุณภาพ) เลวด้วย

๕. ใช้นิ้วมือแตะยางรักแล้วขยี้ดู ถ้ามีคุณภาพดีจะมีความเหนียวกว่ายางรักที่ปนด้วยสิ่งอื่นๆ

คัดลอกบางส่วน: เอกสารประกอบ สาขาช่างรัก ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรี

btemplates