งานแกะสลักไม้
การแกะสลักไม้ เป็น
การประดิษฐ์เนื้อไม้ให้มีลวดลายและรูปร่างสวยงาม งานแกะสลักไม้ของบ้านถวาย
เป็นงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของบ้านถวายและของจังหวัดเชียงใหม่
ไม้ที่จะนำมาใช้เป็นวัสดุหลักในการแกะสลัก ควรเป็นไม้เนื้ออ่อน ไม้ที่ได้รับความนิยมนำมาแกะสลัก ได้แก่ ไม้สัก เพราะง่ายต่อการแกะสลักและมี ลายไม้ที่สวยงาม ปัจจุบันไม้สักเป็นไม้ที่หายากและมีราคาแพง จึงมีการนำไม้สักที่ใช้ประโยชน์แล้วแต่อยู่ในสภาพดีและยังใช้การได้มาผลิต งานแกะสลัก เช่น ไม้จากบ้านเก่า ไม้จากเครื่องใช้อื่นๆ อาทิ เกวียน ครกกระเดื่อง รางน้ำ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังใช้ไม้เนื้ออ่อนชนิดอื่นมาผลิตงานแกะสลัก เช่น ไม้จามจุรี(ฉำฉา) ไม้มะกอก ไม้มะม่วง ไม้กระท้อน เป็นต้น
วัสดุอุปกรณ์การผลิตงานแกะสลักไม้
1 . วัตถุดิบในการผลิตที่สำคัญ คือ ไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้สัก ไม้ขนุน ไม้มะม่วง ไม้จามจุรี2 . เครื่องมือที่ใช้มีอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดมีรูปร่างลักษณะและการใช้งาน ดังนี้
(1) สิ่ว เป็น เหล็กยาวทำจากเหล็กกล้า มีด้ามถือที่ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ตะโก ปลายมีคม มีรูปร่างขนาดที่แตกต่างกันไป เช่น สิ่วโต้หรือสิ่วคมแบน สิ่วรูปตัววีหรือสิ่วฮาย สิ่วรูปตัวยูหรือสิ่วเล็บมือหรือสิ่วว้อง เป็นต้น
สิ่วคมแบน ใช้ตอกเนื้อไม้ให้ลึก มีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็ก(1 หุน) ถึงขนาดใหญ่ ( 3 นิ้ว )
สิ่วรูปตัวยู (สิ่วว้อง) ใช้ตอกลายที่เป็นรูปโค้ง มีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็ก (1 หุน) ถึงขนาดใหญ่( 3 นิ้ว )
สิ่วรูปตัววี (สิ่วเซาะฮ่องหรือ สิ่วฮาย) ใช้สำหรับแกะเดินลายเส้น หรือใช้แต่งลาย
(2) เหล็กปั๊มลาย หรือ เหล็กดอก ใช้สำหรับตอกลงบนผิวไม้ หรือส่วนที่เป็นพื้นภาพ เพื่อให้ได้ลวดลายตามที่ต้องการ
(3) มีด ใช้สำหรับถาก หรือเหลาไม้เพื่อตกแต่งให้ได้รูปทรงตามต้องการก่อนที่จะแกะสลัก
(4) หินลับ ใช้สำหรับลับคมมีดหรือสิ่ว เพื่อให้เกิดความคม
(5) ค้อนไม้ ทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ไม้ชิงชัน เนื่องจากมีความคงทน สามารถควบคุมน้ำหนักในขณะตอกและช่วยยืดอายุการทำงานของสิ่ว
(6) อุปกรณ์และเครื่องใช้อื่น ได้แก่
6.1 ดินสอหรือสีเมจิก ใช้เขียนลวดลายลงบนไม้ก่อนลงมือแกะสลัก
6.2 กระดาษทราย ใช้ขัดงานแกะสลักให้มีผิวเรียบก่อนที่จะนำไปน้ำมันหรือทาสี
6.3 แปรง ใช้ปัดเศษไม้จากการแกะสลัก ทำจากก้านมะพร้าวมัดรวมกัน
ขั้นตอนการแกะสลักไม้
การแกะสลักไม้ มีขั้นตอนการทำโดยสังเขป ดังนี้
1) ขั้นเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือ ในขั้นตอนนี้ สล่าจะต้องจัดเตรียมเครื่องมือที่ใช้ในการแกะสลักดังที่กล่าวข้างต้นให้ พร้อมที่จะใช้งาน
2) ขั้นเตรียมไม้สำหรับแกะสลัก โดยการคัดเลือกไม้เนื้ออ่อนให้มีขนาด และมีความเหมาะสมกับรูปแบบที่ต้องการแกะสลัก
3) ขั้นออกแบบงานแกะสลัก โดยสล่าจะวาดแบบหรือลวดลาย หรือลอกลายที่ต้องการจะแกะสลักด้วยเครื่องเขียนลงบนผิวไม้เนื้ออ่อนที่ เตรียมไว้ ในกรณีที่สล่า มีความชำนาญสูงอาจจะไม่มีขั้นตอนนี้
4) ขั้นแกะสลัก ขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญและเป็นขั้นตอนสุดท้ายของงานแกะสลัก โดยสล่าจะลงมือแกะสลักหรือเฉือนเนื้อไม้ส่วนที่ไม่ต้องการออก ให้มีรูปทรงตามรูปแบบหรือลวดลายที่ต้องการ และแกะสลักแต่งลายให้วิจิตรสวยงาม ในขั้นตอนนี้ อาจแบ่งเป็นขั้นตอนย่อย 2 ขั้นตอน คือ ขั้นการแกะสลักโครงสร้างคือ แกะสลักแบบหยาบ ๆ ให้มีรูปทรงตามแบบที่วาดไว้ในขั้นออกแบบงานแกะสลัก และขั้นการแต่งลาย คือ แกะสลักเพื่อแสดงรายละเอียดหรือลวดลาย
ที่มา : ศิลปหัตถกรรมบ้านถวาย เอกสารกลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพท.เชียงใหม่ เขต 4 เอกสารลำดับที่ 38/2548