งานจิตรกรรมไทยบนฝาผนัง

สถาบันศิลปกร กรมศิลปากร
ส่วนช่างสิบหมู่

    - ออกแบบและเขียนแบบ เรื่องราวที่นิยมนำมาเขียนบนฝาผนัง จะเป็นฝาผนังของโบสถ์ วิหาร พระระเบียง วิหารคด พระที่นั่ง หอพระ หอไตรหรือหลังบานประตูหน้าต่าง ล้วนแล้วแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธเป็นหลัก เป็นต้นว่า ทศชาติ นอกจากนี้ก็มีรามเกียรติ์เป็นสำคัญ เรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ได้แฝงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของไทยในยุคที่มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยออกแบบและเขียนแบบในลักษณะที่เราเรียกว่าการมองภาพแบบตานกบิน ในการร่างแบบ ควรร่างบนกระดาษร่าง หรือกระดาษบรู๊ฟเสียก่อน
   - ทำแบบปรุ นำแบบที่ได้ร่างไว้และปรับลายจนเรียบร้อยดีแล้ว มาทำแบบปรุโดยใช้กระดาษไข เบอร์
    70-75 แกรม วางทับลงไปบนแบบที่ได้ร่างไว้แล้ววางซ้อนใต้แบบอีก 2-3 แผ่น ลงมือปรุแบบ โดยใช้เข็มปรุแบบจนแล้วเสร็จ ตรวจดูความเรียบร้อย ไม่หลงลืม โดยเช็คดูจากแผ่นกระดาษไขบนแบบร่าง ในการยึดแบบร่างกับกระดาษไข เพื่อกันไม่ให้เคลื่อนขณะปรุแบบใช้แม็กเย็บกระดาษเย็บโดยรอบแบบ เสร็จดีแล้วจึงค่อยเอาแม็กเย็บกระดาษออก
   - เตรียมพื้นผนัง ก่อนลงมือเขียนฝาผนังที่เป็นปูน ต้องประสะ (ชโลม) ผนังที่จะเขียนภาพหลาย ๆ ครั้ง โดยใช้น้ำใบขี้เหล็ก เมื่อผนังแห้งดีแล้ว ใช้ขมิ้นชันสดทดลองขีดบนผนังดู ถ้าเป็นสีแดงแสดงว่าผนังยังมีความเค็มต้องประสะอีก จากนั้นทดลองขีดดูถ้าเป็นสีเหลืองของขมิ้นแสดงว่าผนังนั้นหมดความเค็มแล้ว เตรียมการลงพื้นโดยใช้ดินสอพองผสมกับแป้งเปียกที่ทำจากเม็ดมะขาม (นำเม็ดมะขามไปคั่วจนเปลือกร่อนออกแล้วนำไปต้มจนเปื่อย เป็นแป้งเปียก) ทาลงบนฝาผนังให้ทั่วอย่าให้หนาเกินไปผึ่งไว้จนแห้งดีแล้ว ขัดด้วยกระดาษทรายละเอียดให้เรียบ ใช้สีขาว (สีฝุ่นขาว) ทาด้วยแปรงให้ทั่วอีกครั้งหนึ่ง
   - ลูบฝุ่นโรยแบบ นำแบบที่ปรุไว้เรียบร้อย ทาบลงบนฝาผนังที่ได้เตรียมพื้นไว้แล้วใช้ลูกประคบขาว-ดำ ลูบไปบนแบบปรุจนทั่ว เอาแบบปรุออก ฝาผนังจะปรากฎเป็นรอยประอันเกิดจากลูกประคบขาว-ดำ
  -  ระบายสี ให้เริ่มระบายสีที่เป็นแบล็กกราวด์ หรือองค์ประกอบของภาพเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นทิวทัศน์ โขดเขา ก้อนหิน พื้นดิน น้ำ ต้นไม้ ท้องฟ้า ตลอดจนอาคารบ้านเรือน วิมาน ฯลฯ หลังจากเสร็จแล้ว จึงค่อยระบายตัวภาพ โดยใช้สีฝุ่นสีต่าง ๆ

  -  ทายางมะเดื่อ ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของภาพก็ดี ถ้ามีที่ที่จะต้องปิดทองคำเปลวให้ใช้รงทองระบายในส่วนที่จะปิดทองเสียก่อน เพื่อให้สังเกตุได้ง่ายจะได้ไม่หลงลืมและทำให้พื้นที่บริเวณที่จะปิดทองเรียบเสมอกัน จากนั้นทาด้วยยางมะเดื่อโดยทาให้ทั่วในส่วนที่จะปิดทอง พอยางมะเดื่อที่ทาไว้หมาดก็ลงมือปิดทอง (ยางมะเดื่อเป็นยางที่ได้จากต้นมะเดื่ออุทุมพร ใบจะเล็กเรียวกว่า และไม่หยาบเหมือนมะเดื่อทั่วไป)
  -  ปิดทองคำเปลว เปิดกระดาษเปลือกทอง แล้วปิดคว่ำลงไปให้แผ่นทองปิดทับลงบนยางมะเดื่อ ระวังอย่าให้เปลือกทองที่เป็นกระดาษติดบนยาง จะทำให้ปิดทองไม่ติด พอปิดทองทั่วดีแล้วใช้นิ้วมือแตะแผ่นทอง ซ่อมในส่วนที่มีรอยให้เรียบร้อย แล้วกวดทองให้เรียบ โดยจะใช้นิ้วมือหรือสำลีคลึงให้เป็นก้อนกวดอีกที ทั้งนี้เพื่อเก็บเศษทองหรือเกสรของทองออกให้หมด

    พู่กัน
   - ตัดเส้น ใช้พู่กันขนาดเล็กตัดเส้นสีต่าง ๆ โดยทำการตัดเส้นไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบต่าง ๆ ของภาพหรือตัวภาพตลอดจนลวดลายต่าง ๆ รวมทั้งที่ที่ได้ปิดทองไว้โดยในส่วนที่ปิดทองให้ใช้สีแดงชาดทั้งหมดเน้นเส้นที่เป็นเค้าโครงที่สำคัญ ๆ ด้วยสีดำ

อุปกรณ์ที่ใช้ในการเขียนภาพจิตรกรรมไทย
    พู่กัน
    แปรง
    เปลือกต้นกระดังงาไทย
    รากลำเจียก
    ดินสองเหลือง (ทำจากดินเหลืองหรือดินกิน ลักษณะเป็นดินดานที่มีเนื้อละเอียดนุ่มแต่แข็งกว่าดินสอพอง)
    ลูกประคบดำและขาว
    น้ำกาวยางมะขวิด (ยางกระถิน ARABIC GUM)
    ยางมะเดื่อ
    เข็มปรุแบบ
    สำลีอย่างดี
    ทองคำเปลว 100 %
    ใบมีด (ใช้ขูดทอง)
    สีฝุ่น สีต่าง ๆ อัตราส่วน 3 ต่อ 1 ( สี 3 ส่วน ต่อ น้ำกาว 1 ส่วน)

btemplates