งานช่างลายรดน้ำ
หีบลายทองรดน้ำ เรื่องทรพีจับทรพา อยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร |
ลายรดน้ำ หมายถึง การเขียนลวดลาย หรือรูปภาพให้ ปรากฏเป็นลายทองด้วยวิธีปิดทองแล้วเอาน้ำรด จัดเป็นงาน ประณีตศิลป์ที่มีความสำคัญมาก สำหรับตกแต่งสิ่งของ เครื่องใช้ และเครื่องประดับของขาวบ้านธรรมดา เครื่องใช้ในพระพุทธ ศาสนา ตลอดไปจนถึงในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยใช้ ตกแต่งตั้งแต่สิ่งของที่มีขนาดเล็กขึ้นไปจนถึงประดับตกแต่งผนัง ห้องที่มีขนาดใหญ่ อันหมายถึงตกแต่งตั้งแต่เนื้อที่ไม่กี่ตารางนิ้ว ไปจนถึงเนื้อที่หลายร้อยตารางฟุตให้วิจิตรงดงาม สรุปโดยย่อลาย รดน้ำก็คือลายทองที่ล้างด้วยน้ำ
การเขียนลวดลายหรือรูปภาพ ประเภทลายรดน้ำนี้ คงจะมีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีในสมัย นั้นได้มีการติดต่อค้าขายกับจีน และโดยเหตุที่ชาวจีนเป็นชาติแรกที่รู้จักการใช้รู้ก่อนชาติอื่น จึงทำให้เชื่อได้ว่าไทย เราคงได้รับการถ่ายทอดถึงวิธีการต่างๆ ในการใช้รักรวมไปถึงกรรมวิธีในการทำลายรดน้ำ มาแต่ครั้งสุโขทัยนั้นเอง
งานประเภทลายรดน้ำนี้ คงแพร่หลายและเป็นที่นิยมเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยา และต่อมาจนถึงสมัย รัตนโกสินทร์ ดังปรากฏศิลปะโบราณวัตถุที่ตกทอดมาได้แก่ ตู้พระธรรม เครื่องใช้สอย เครื่องครุภัณฑ์ ได้แก่ หีบต่างๆ ไม้ประกับหน้าคัมภีร์ พานแว่นฟ้า โตก ตะลุ่ม ฝา บานตู้ ฉากลับแล ฝาผนัง บานประตูหน้าต่าง เป็นต้น จะเห็นได้ว่างานช่างลายรดน้ำของไทยนั้นมีคุณค่าทางด้านศิลปะอันมีลักษณะโดย เฉพาะ และเป็นแบบอย่างของ ศิลปะไทยมาแต่โบราณ แม้ว่างานส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปในด้านที่เกี่ยวกับศาสนา และพระมหากษัตริย์ ก็ยังมีอีก ไม่น้อยที่เกิดจากชาวบ้านธรรมดา เพื่อใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้านเรือน และเป็นที่เชิดหน้าชูตาแห่งตน
ตู้ลายรดน้ำ รูปเทพารักษ์ ประทับยืนบนนาคบัลลังก์ ประกอบด้วยลายช่อกนก และช่อดอกไม้ ฝีมือช่างสมัยอยุธยา อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร |
ลักษณะพิเศษของลายรดน้ำ คือ มีกรรมวิธีในการ เขียนผิดแผกแตกต่างไปจากงานจิตรกรรมทั่วไป ที่ใช้สีหลายสี หรือแม้แต่งานจิตรกรรมประเภทเอกรงค์เองก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้ เพราะการเขียนลายรดน้ำ ใช้น้ำยาหรดาลเขียนบนพื้นซึ่งทาด้วย ยางที่ได้จากต้นรัก เมื่อเขียนเสร็จแล้วจึงเช็ดรัก ปิดทองแล้วเอา น้ำรดน้ำยาหรดาลที่เขียน เมื่อถูกน้ำก็จะหลุดออก ส่วนที่เป็นลวด ลายทองก็ติดอยู่ ทำให้ลวดลายหรือรูปภาพที่ปรากฏ หลังการรด น้ำเป็นสีทองเพียงสีเดียว บนพื้นสีดำหรือสีแดง
นอกจากกรรมวิธี การเขียนที่แตกต่างกันแล้ว กรรมวิธี ในการทำพื้นหรือ เตรียมพื้นก็ยังแตกต่างกันอีก กล่าวคือในการ เขียนลายรดน้ำ ไม่ว่าจะเขียนบนพื้นหรือวัสดุชนิดใดก็ตาม พื้น หรือวัสดุนั้นจะต้องทาด้วยยางรัก ๒ ถึง ๓ ครั้งเสียก่อน จึงจะลง มือเขียนด้วยน้ำยาหรดาล ส่วนที่ว่าจะงดงาม หรือมีคุณค่ามากน้อยเพียงใดนั้นอยู่ที่แบบลวดลายที่ถูกต้องสมบูรณ์ มีความ ประสานกลมกลืนกัน อันเป็นลักษณะพิเศษโดยเฉพาะของศิลปะไทย องค์ประกอบของภาพโดยทั่วไป ความหรูหรา ตลอดจนความสวยงามของลวดลายจะอยู่ที่ภาพแสดงความเป็นอยู่ของสัตว์ ปะปนอยู่ทั่วไปในระหว่างพืชพันธุ์ไม้ ภาพสัตว์เล็กๆ ซึ่งมักเขียนให้มีลักษณะเป็นจริงตามธรรมชาติมากกว่าภาพสัตว์ใหญ่ สิ่งที่สำคัญอยู่ที่ชีวิตของ สัตว์แต่ละตัว จะต้องให้ความรู้สึกเป็นจริงตามสภาพของสัตว์เมืองร้อน อันมีชีวิตเกี่ยวข้องอยู่กับพันธุ์พฤกษชาติ ต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไป ช่างผู้เขียน หรือศิลปินจะต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างดี จึงจะสามารถถ่ายทอดลักษณะ พิเศษโดยเฉพาะของสัตว์นั้นๆ ออกมาได้โดยให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติจริงๆ
นอกจากจะมีความประสานกลมกลืนกันเป็นอย่างดีแล้ว ยังจะต้องมีความถ่วงกันอย่างพอเหมาะพอดี ของน้ำหนักอันเกิดจากความอ่อน และแก่ภายในภาพนั้นๆ ด้วยน้ำหนักอ่อนแก่ดังกล่าวเกิดจากสีดำของรัก และ ความสว่างของทองคำเปลว ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีมากจนข่มอีกฝ่ายหนึ่ง ก็จะเกิดความขัดแย้งไม่ประสานกันขึ้น ทำให้ความสวยงามของภาพลดน้อยลง
ลักษณะ พิเศษที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถือเป็นหัวใจของการสร้างงานประเภทลายรดน้ำที่ขาดเสีย มิได้ก็คือ ตัวช่างหรือศิลปินจะต้องทำงานด้วยใจที่รัก มีความสามารถทำงานด้วยความประณีต บรรจงละเอียดรอบ คอบ ประกอบกับมีทักษะในด้านฝีมือเป็นสำคัญ รวมทั้งต้องมีความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับลวดลายตลอดจนแม่บท ต่างๆ ของลายไทยเป็นอย่างดี ซึ่งสิ่งต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมานี้ คือ องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ช่างหรือศิลปิน สามารถปฏิบัติงานได้อย่างได้ผล และมีประสิทธิภาพ
ฉลอง ฉัตรมงคล
นักวิชาการช่างศิลป์ ๘ว. สถาบันศิลปกร กรมศิลปากร
ส่วนช่างสิบหมู่
ลายรดน้ำ หมายถึง ลวดลายหรือภาพรวมไปถึงภาพประกอบลายต่างๆที่ปิดด้วยทองคำเปลวบนพื้นรัก โดยลวดลายหรือภาพลายทองที่ปรากฎสำเร็จในขั้นสุดท้ายด้วยการเอาน้ำรด
กล่าวโดยย่อ “ลายรดน้ำ” คือ ลายทองที่ล้างด้วยน้ำ ลายรดน้ำ จัดเป็นงานประณีตศิลป์ ประเภทการตกแต่งประเภทหนึ่ง กรรมวิธีในการสร้างลายรดน้ำ การสร้างงานลายรดน้ำแต่ละชิ้น ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 การออกแบบและเขียนแบบ ร่างแบบตัวภาพและลายที่จะเขียนลงบนกระดาษร่างเสียก่อน โดยร่างแต่เพียงเค้าโครงให้ได้รูปที่สวยงามถูกต้อง โดยไม่จำเป็นต้องลงลายละเอียดให้มากจนเกินไป
ขั้นตอนที่ 2 การทำแบบปรุ นำแบบหรือลวดลายที่ร่างไว้แล้ว ไปทำแบบปรุโดยใช้กระดาษไขปิดทับไปบนแบบที่ร่างไว้ 1 แผ่น ที่เหลือประมาณ 3-4 แผ่น วางซ้อนด้านล่างไว้แล้วยึดด้วยแม็กเย็บกระดาษกันเลื่อน ทำการปรุโดยใช้เข็มปรุ
ขั้นตอนที่ 3 การเตรียมพื้นวัสดุ ใช้ไม้อัดขนาด 6 มม. ตัดให้ได้ขนาดกับแบบที่ร่างไว้ หรือจะใช้วัสดุอื่นใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก กระเบื้อง หรือโลหะ ฯลฯ ที่ทารักได้นำมาขัดด้วยกระดาษทรายน้ำ แล้วลงรักสมุก หรือ สีโป๊วแห้งเร็วทิ้งให้แห้งแล้วขัดเรียบ
ขั้นตอนที่ 4 การลงรักน้ำเกลี้ยง นำพื้นที่ขัดไว้ดีแล้วไปลงรักน้ำเกลี้ยงสัก 3 ครั้ง โดยแต่ละครั้งต้องรอให้รักที่ลงแห้งสนิทเสียก่อน จึงขัดแล้วลงรักซ้ำลงไป ทำเช่นนี้จนครบ 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย แล้วทำการเข็ดรักชักเงาพื้น นำไปบ่มเก็บในที่ที่ไม่มีฝุ่นละออง
ขั้นตอนที่ 5 ล้างทำความสะอาดพื้นรัก นำพื้นรักที่เตรียมไว้ดีแล้วไปทำความสะอาดโดยใช้ดินสอพองผสมน้ำแต่น้อย ทำความสะอาดพื้นรักให้หมดคราบความสกปรกต่างๆ
ขั้นตอนที่ 6 ลูบฝุ่นโรยแบบ เอาแบบปรุที่เตรียมไว้มาลูบด้วยลูกประคบฝุ่นดินสอพองเผาไฟลงไปบนพื้นรักที่ล้างทำความสะอาดไว้แล้วจนปรากฎภาพหรือลายบนพื้นรัก
ขั้นตอนที่ 7 เขียนด้วยน้ำยาหรดาล (ใช้สีโปสเตอร์แทนได้ แต่คุณภาพไม่เทียบเท่า) ใช้พู่กันชนิดพิเศษจุ่มลงในโกร่งน้ำยาหรดาลที่เตรียมไว้ แล้วเขียนไปตามแบบภาพหรือลายที่ปรากฎบนพื้นจนแล้วเสร็จ
ขั้นตอนที่ 8 การเช็ดรัก นำรักเช็ด เช็ดลงบนพื้นภาพหรือลายที่เขียนเสร็จแล้วโดยเช็ดให้ทั่วทั้งภาพ แล้วถอนออกโดยใช้สำลีถอนรักเช็ดให้เหลือน้อยที่สุด พอใช้หลังมือแตะแล้วรู้สึกได้ว่ายังมีความเหนียวอยู่
ขั้นตอนที่ 9 การปิดทอง ใช้ทองคำเปลวคัด100%อย่างดีสีเดียวกันปิดทับลงไปโดยให้เกยกันประมาณ 2 มม. จนทั่วทั้งภาพ แล้วใช้มือกวดทองให้เรียบเป็นเนื้อเดียวกัน
ขั้นตอนที่ 10 การรดน้ำ นำภาพหรือลายที่ปิดทองเรียบร้อยแล้ว ไปล้างหรือรดด้วยน้ำสะอาดล้างน้ำยาหรดาลออกให้หมดแล้วเช็ดให้เรียบร้อยสวยงาม
ขั้นตอนที่ 11 การซ่อมลายที่ชำรุด กรณีที่ล้างหรือรดด้วยน้ำแล้ว มีบางตอนชำรุดทองหลุดลอกออกต้องทำการเขียนซ่อมโดยทำความสะอาดบริเวณที่จะซ่อมด้วยดินสอพองผสมน้ำเสียก่อน จึงค่อยเขียนด้วยน้ำยาหรดาล ทำเช่นเดียวกับ ขั้นตอนที่ 7 เรื่อยลงมาถึงการรดน้ำก็จะได้ภาพสมบูรณ์