ภาพรวมผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก

สภาวะผลิตภัณฑ์ไม้และไม้แกะสลัก

ประเภทของใช้และเครื่องประดับตกแต่งของไทย

 ภาวะทั่วไป
ผลิตภัณฑ์ไม้และไม้แกะสลักประเภทของใช้และเครื่องประดับตกแต่งของไทย มีการผลิตสืบทอดกันเป็นเวลานานแล้ว โดยเดิมเป็นการผลิตเพื่อใช้สอยในครัวเรือนเป็นหลัก แต่ปัจจุบันมีการผลิตที่มีความหลากหลายมากขึ้น มีการพัฒนาปรับปรุงการผลิตด้านการนำเครื่องทุ่นแรงมาใช้ในบางขั้นตอนการผลิต ส่งผลให้การผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ได้กลายมาเป็นอาชีพหนึ่งที่ทำรายได้ให้กับครอบครัวเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะครอบครัวชนบทและยังสามารถขยายการผลิตออกไปเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่สามารถผลิตได้ครั้งละมาก ๆ จนสามารถส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ นำรายได้เข้าประเทศโดยรวมปีละไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท

ผลิตภัณฑ์ไม้และไม้แกะสลัก ฯ นับเป็นสินค้าในหมวดของตกแต่งบ้านที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงในการมอบให้เป็นของที่ระลึกในโอกาสต่าง ๆ เช่น วันปีใหม่ วันเกิด วันขึ้นบ้านใหม่และโอกาสอื่น ๆ อีกมาก แหล่งผลิตใหญ่อยู่ในภาคเหนือของประเทศ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แพร่ นครสวรรค์ รวมถึงภาคกลางที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและกรุงเทพ ฯ

 ภาวะการตลาด
ตลาดภายในประเทศการตลาดของผลิตภัณฑ์ไม้และไม้แกะสลัก ฯ สำหรับตลาดในประเทศนั้นมี 2 ลักษณะคือ ตลาดขายปลีกและตลาดขายส่ง โดยแหล่งจำหน่ายที่สำคัญในประเทศในลักษณะขายปลีก คือ แหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัดสวนจตุจักร และสวนลุมไนท์พลาซ่า ขณะที่แหล่งตลาดขายส่งที่สำคัญ ได้แก่ แหล่งผลิตสำคัญในภาคเหนือและภาคกลาง เช่น ในซอยประชานฤมิตร ในกรุงเทพฯ เป็นต้น รวมถึงตลาดนัดสวนจตุจักรและสวนลุมไนท์พลาซ่า

ตลาดส่งออก
ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และไม้แกะสลัก ฯ ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ตลาดคือ ตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น และตลาดใหม่ ได้แก่ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชีย

หากได้วิเคราะห์ภาพรวมของการส่งออกเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มการตลาด พบว่าภาพรวมของการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้และไม้แกะสลัก ฯ ของไทยอยู่ในภาวะทรงตัว จากสถิติตัวเลขมูลค่าการส่งออกเปรียบเทียบในราย 3 ปีที่ผ่านมา มีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกัน โดยปี 2546 มูลค่า การส่งออกประมาณ 10,500 ล้านบาท ปี 2547 มูลค่า 10,900 ล้านบาท และในปี 2548 มูลค่า 10,100 ล้านบาท คาดว่าในช่วงปี 2549 และช่วงเวลาที่เหลือน่าที่จะขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ประเทศลูกค้าที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่นและแคนนาดา เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ประชาชนมีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีรายได้สูง ส่งผลต่อเนื่องให้มีการจับจ่ายใช้สอยเครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องประดับบ้าน ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ไม้และไม้แกะสลักฯ เพิ่มสูงตามไปด้วย นอกจากนี้โดยส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการไทย เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติต่าง ๆ ทำให้ผู้บริโภคต่างชาติได้รู้จักสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้และไม้แกะสลักเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีการส่งเสริม จัดแสดงสินค้า จำหน่ายสินค้า OTOP อย่างต่อเนื่องในไทย ส่งผลให้สินค้าผลิตภัณฑ์ไม้และ ไม้แกะสลักเป็นที่รู้จัก และมีช่องทางการจำหน่ายมากขึ้นด้วย จากเหตุผลดังกล่าวจึงคาดว่า จะสามารถส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้และไม้แกะสลักเป็นมูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2549

เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไม้และไม้แกะสลักฯจัดเป็นสินค้าหัตถกรรมหรือสินค้าOTOP ประเภท-หนึ่ง ดังนั้นแนวโน้มหรือสภาวะตลาดของสินค้า OTOP จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับสินค้าไม้และไม้แกะสลักฯ ด้วย ซึ่งจากรายงานสรุปสภาวะของกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือนมีนาคม 2549 ได้จัดลำดับผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีการส่งออกได้ 16 ลำดับ ดังนี้

1. เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาสิว
2. เครื่องประดับทำด้วยเงิน
3. เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน
4. เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร
5. เคหะสิ่งทอ
6. เสื้อผ้าสำเร็จรูป
7. ผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลักและเครื่องประดับทำด้วยไม้
8. เครื่องใช้ทำด้วยไม้
9. เทียน
10. ของชำร่วยและเครื่องประดับเซรามิค
11. ผ้าผืน
12. กรอบรูปไม้
13. ดอกไม้ ใบไม้ ต้นไม้ประดิษฐ์
14. เครื่องปรุงอาหาร
15. ผลิตภัณฑ์ข้าว
16. ผลไม้แปรรูป

จากข้อมูลพบว่า ผลิตภัณฑ์ไม้และไม้แกะสลักอยู่ในลำดับที่ 7 และ 8 ของการจัดลำดับผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มียอดการส่งออกมากที่สุด 16 ลำดับ โดยมียอดการส่งออกสินค้า OTOP ในช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม 2548 มีมูลค่า 973 ล้านเหรียญสหรัฐ เปรียบเทียบกับปี 2547 จำนวน 873 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 11.4 และเมื่อเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของการส่งออกใน 4 กลุ่มสินค้า OTOP พบว่า สินค้าสมุนไพรเพื่อสุขภาพและความงาม มีอัตราขยายตัวอันดับหนึ่ง รองลงมาได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ผ้าและเครื่องแต่งกาย ของใช้และของตกแต่งบ้าน (รวมผลิตภัณฑ์ไม้และไม้แกะสลัก) ตามลำดับ

ข้อมูลอีกอันหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงสภาวะการตลาดและแนวโน้มสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้และไม้แกะสลัก ซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลในการศึกษาหาแนวโน้มตลาด เพื่อการวางแผนการผลิตสินค้าประเภทนี้ได้ โดยดูจากข้อมูลการจำหน่ายสินค้า OTOP ในงานแสดงสินค้า OTOP to The world ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2548 รายละเอียดดังนี้

- สินค้าที่ได้รับความสนใจสั่งซื้อมากที่สุด ได้แก่ กระจกลงทอง เปลือกไข่วิจิตร ผลิตภัณฑ์-หนัง ผลิตภัณฑ์ไม้ ดอกไม้ประดิษฐ์ / กระดาษสา เซรามิค เบญจรงค์ ผลิตภัณฑ์สปา เคหะสิ่งทอ จักสาน ฯลฯ

- สินค้าจำหน่ายปลีก ที่ได้จำหน่ายมากที่สุด ผลิตภัณฑ์ไม้ เคหะสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์สปา เซรามิค เบญจรงค์ ผลิตภัณฑ์โลหะ ดอกไม้ประดิษฐ์ / กระดาษธรรมชาติ

- ประเทศที่มีการสั่งซื้อมากที่สุดเรียงตามลำดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ฮ่องกง กาตาร์ ไต้หวัน และจีน

- สินค้าที่ได้รับการสั่งซื้อมากที่สุด แยกตามภูมิภาค ได้แก่ยุโรปเอเชียตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือแอฟริกา

จากการวิเคราะห์แนวโน้มตลาดทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออกในปี 2549 และแนวโน้มในปีต่อ ๆ ไปนั้น ทำให้ทราบข้อมูลสำคัญในการพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้และไม้แกะสลัก รวมถึงผลิตภัณฑ์หัตถกรรมอื่น ๆ ที่น่าจะมีแนวโน้ม ตรงกับความต้องการของตลาดทั่วไปทั้งในประเทศ และต่างประเทศในอนาคต ควรมีลักษณะดังนี้ (มีลักษณะใด ลักษณะหนึ่งหรือหลายลักษณะ)

1 มีแนวโน้มด้านแฟชั่นและสไตล์
2 ง่ายต่อการใช้สอย หรือมีลักษณะแนวโน้มน่านิยมใช้ อาทิ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
3 มีมูลค่าเพิ่มสูง (High value – added products)
4 มีลักษณะเฉพาะ (Unique) ซึ่งได้รับการออกแบบให้มีคุณภาพสูง
5 มีคุณสมบัติในความรู้สึกสบาย ๆ อบอุ่นและน่ารัก
6 มีศิลปะสูง
7 มีประโยชน์ใช้สอยพิเศษ (Special Functions)3.

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ
ปัจจุบันสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้และไม้แกะสลัก รวมถึงสินค้าหัตถกรรมอื่น ๆ ของไทย จะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศเพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่สินค้าในกลุ่มหัตถกรรมยังต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ เช่น

- อัตราค่าจ้างแรงงานในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น

- ทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตเริ่มจำกัดและเริ่มหายาก

- การพัฒนาเทคนิคการผลิตที่ทันสมัยยังไปไม่เร็วเท่าที่ควร

- ขาดข้อมูลความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ

- คู่แข่งขันในตลาดส่งออก มีความได้เปรียบในด้านค่าแรงที่ต่ำกว่า และมีวัตถุดิบไม้ มีความอุดมสมบูรณ์และมีคุณภาพ (ไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้มะค่า ไม้มะม่วงและไม้กระท้อน)

- คู่แข่งขันในตลาดส่งออกมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีจุดเด่นในส่วนของการออกแบบที่ทันสมัย

และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว ผู้ผลิต ผู้ประกอบการไทย จึงควรต้องมีการพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น

- ดำเนินงานโดยใช้ยุทธศาสตร์ Value creation ที่เป็นการใช้ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของไทยในส่วนของฝีมือการผลิตที่สืบทอดภูมิปัญญากันมาสร้างสรรค์สินค้า เพื่อให้สินค้ายากต่อการลอกเลียบแบบและมีคุณค่า จนสามารถสร้างราคาให้สูงได้ จนยากที่คู่แข่งจะขายตัดราคา

- หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทย ควรร่วมมือกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในส่วนของการศึกษาวิจัยแนวโน้มความต้องการของตลาด ต่อสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้และไม้แกะสลักฯ เพื่อใช้เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาคุณภาพ รูปแบบ และปริมาณการผลิตของผู้ผลิต ผู้ประกอบการไทย ให้ตรงกับความต้องการของตลาดกลุ่มเป้าหมาย และควรต้องศึกษาระบบโครงสร้างตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้และไม้แกะสลักฯ รวมถึง ตลาดสินค้าหัตถกรรมอื่น ๆ ในกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายด้วยอย่างละเอียด เพื่อเป็นข้อมูล และแนวทางในการติดต่อการค้าระหว่างไทย และประเทศคู่ค้าในอนาคต โดยทั้งนี้ หากไทยสามารถขยายตลาดผลิตภัณฑ์ไม้ และไม้แกะสลักในประเทศกลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวางแล้ว ย่อมเปิดโอกาสให้การส่งออกสินค้าหัตถกรรมไทยประเภทอื่น ๆ มีโอกาสเจาะตลาดประเทศเหล่านั้นในปริมาณ และมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสในการนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น ในรูปของเงินตราต่างประเทศแล้ว ยังเป็นการส่งผลดีต่อเนื่อง ถึงการจ้างงานในอุตสาหกรรมหัตถกรรมไทย และช่วยลดการอพยพแรงงานชนบทเข้าสู่เมืองหลวงด้วย ซึ่งจะส่งให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพที่มั่นคงขึ้นในระดับหนึ่ง อีกทั้งยังก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัสดุในท้องถิ่น และช่วยสืบทอดวัฒนธรรมและประเพณีของไทยที่แสดงออกมาในรูปของงานหัตถกรรมอีกด้วย

แหล่งที่มา :ส่วนพัฒนาและกระจายผลิตภัณฑ์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

btemplates