งานช่างลายรดน้ำ ช่างสิบหมู่

ที่มาของภาพ:หนังสือความรู้ทั่วไปในงานช่างศิลป์ไทย,กรมศิลปากร,๒๕๔๕
สถาบันศิลปกร กรมศิลปากร
ส่วนช่างสิบหมู่

ลายรดน้ำ หมายถึง ลวดลายหรือภาพรวมไปถึงภาพประกอบลายต่างๆที่ปิดด้วยทองคำเปลวบนพื้นรัก โดยลวดลายหรือภาพลายทองที่ปรากฎสำเร็จในขั้นสุดท้ายด้วยการเอาน้ำรด กล่าวโดยย่อ “ลายรดน้ำ” คือ ลายทองที่ล้างด้วยน้ำ ลายรดน้ำ จัดเป็นงานประณีตศิลป์ ประเภทการตกแต่งประเภทหนึ่ง

เครื่องมืออุปกรณ์ช่างลายรดน้ำ
ยาง รักหรือน้ำรัก สมุก ทองคำเปลว หรดาล ฝักส้มป่อย มะนาว กาวยางมะขวิด ดินสอพอง กระดาษทราย สำลี น้ำมันสน น้ำมันก๊าด น้ำมันการบูร ฝุ่นถ่านไม้ ผงดินเผา ฝุ่นถ่านเขากวางกระดาษโรยแบบเข็มปรุ ลูกประคบฝุ่น ลูกประคบทอง กระดานผสมสมุก ไม้พายทาและผสมสมุก แปรงจีนขนาด ๑ นิ้วครึ่ง ควรใช้ทารักหินฟองน้ำ หินลับมีดโกน โกร่งใส่น้ำยา สะพานรองมือ แปรงปัดทอง เกรียง ตู้บ่มรัก

กรรมวิธีในการสร้างลายรดน้ำ ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังต่อไปนี้
เริ่มต้นด้วยด้วยการออกแบบ และเขียนแบบโดยร่าง แบบตัวภาพ และลายที่จะเขียนบนกระดาษร่างเสียก่อน โดยร่าง แต่เพียงเค้าโครงให้ได้รูปที่สวยงามถูกต้อง โดยไม่จำเป็นต้องลง ลายละเอียดให้มากเกินไป นำแบบหรือลวดลายที่ร่างไว้แล้ว ไป ทำแบบปรุ โดยใช้กระดาษไขปิดทับไปบนแบบที่ร่างไว้ ๑ แผ่น ที่เหลือประมาณ ๓ – ๔ แผ่น วางซ้อนด้านล่างไว้ แล้วยึดด้วย แม็กเย็บกระดาษกันเลื่อน ทำการปรุโดยใช้เข็มปรุ ขณะเดียว กันต้องเตรียมพื้นวัสดุ ใช้ไม้อัดขนาด ๖ มิลลิเมตร ตัดให้ได้ขนาด กับแบบที่ร่างไว้ หรือจะใช้วัสดุอื่นใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก กระเบื้อง หรือโลหะ ฯลฯ ที่ทารักได้นำมาขัดด้วยกระดาษทรายน้ำ แล้วลงรักทิ้งให้แห้งแล้วขัดเรียบ (ปัจจุบันช่างอาจใช้สีโป๊วแห้ง เร็วทำพื้นแทน) นำพื้นที่ขัดไว้ดีแล้วไปลงรักน้ำเกลี้ยง ๓ ครั้ง โดย แต่ละครั้งต้องรอให้รักที่ลงแห้งสนิทเสียก่อน จึงขัดแล้วลงรักซ้ำ ลงไป ทำเช่นนี้จนครบ ๓ ครั้ง เป็นอย่างน้อย แล้วทำการเช็ดรัก ชักเงาพื้น นำไปบ่มเก็บในที่ที่ไม่มีฝุ่นละออง

หลังจากนั้น ล้างทำความสะอาดพื้นรัก โดยการใช้ดินสอพองผสมน้ำแต่น้อย ทำความสะอาดพื้นรักให้ หมดคราบความสกปรกต่างๆ แล้วจึงเอาแบบปรุที่เตรียมไว้มาลูบด้วยลูกประคบฝุ่นดินสอพองเผาไฟลงไป บนพื้นรัก ที่ล้างทำความสะอาดไว้แล้ว จนปรากฏภาพหรือลายบนพื้นรักจากนั้นเขียนด้วยน้ำยาหรดาล ด้วยพู่กันชนิดพิเศษ จุ่มลงในโกร่งน้ำยาหรดาลที่เตรียมไว้ แล้วเขียนไปตามแบบภาพ หรือลายที่ปรากฏบนพื้นจนแล้วเสร็จ

ขั้นต่อมา การเช็ดรัก นำรักเช็ด เช็ดลงบนพื้นภาพ หรือลายที่เขียนเสร็จแล้ว โดยเช็ดให้ทั่วทั้งภาพ แล้วถอนออก โดยใช้สำลีถอนรักเช็ดให้เหลือน้อยที่สุด พอใช้หลังมือแตะ แล้วรู้สึกได้ว่ายังมีความเหนียวอยู่ หลังจากนั้นจึงปิดทองโดย ใช้ทองคำเปลว ๑๐๐% อย่างดีสีเดียวกันปิดทับลงไปโดยให้ เกยกันประมาณ ๒ มิลลิเมตร จนทั่วทั้งภาพ แล้วใช้มือกวดทอง ให้เรียบเป็นเนื้อเดียวกัน นำภาพหรือลายที่ปิดทองเรียบร้อยแล้ว ไปล้าง หรือรดด้วยน้ำสะอาดล้างนำยาหรดาลออกให้หมด แล้ว เช็ดให้เรียบร้อยสวยงาม

กรณีที่ล้าง หรือรดด้วยน้ำแล้ว มีบางตอนชำรุด ทองหลุดออก ต้องทำการเขียนซ่อม โดยทำความสะอาด บริเวณที่จะซ่อมด้วยดินสอพองผสมน้ำเสียก่อน จึงค่อยเขียน ด้วยน้ำยาหรดาล ทำเรื่อยลงมาถึงการรดน้ำ ก็จะได้ภาพที่ สมบูรณ์

ช่างเขียน เป็นหนึ่งในบรรดาช่างสิบหมู่ ช่างเขียนนับว่าเป็น แม่บทแบบแผน หรือหัวใจของการดำเนินงานสร้างผลงานศิลปะ ของช่างแขนงต่างๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะในการทำงาน ช่างต้องอาศัยการวาด การเขียน การกำหนดรูปแบบ หรือร่างแบบ เค้าโครงก่อน แล้วจึงนำไปปฏิบัติงานจริงในงานศิลปะเกือบทุกแขนง

ลักษณะของงานนั้น เป็นแบบประเพณีหรืออุดมคติ คนโบราณนิยม เขียนภาพเป็น พุทธบูชาตามผนัง โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญนี้เรียกว่า จิตรกรรมฝาผนัง และเขียนไว้ตาม สมุดไทยหรือบนผ้าพระบฎอีกด้วย

ช่างลายรดน้ำ เป็นงานปราณีตศิลป์ทางด้านตกแต่งอย่างหนึ่ง ซึ่งมีรูปแบบและการทำสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ งานช่างลายรดน้ำ จัดเป็นงานช่างศิลป์ประเภทหนึ่งซึ่งรวมอยู่ในหมู่ช่างรัก อันเป็นช่างหนึ่ง ในงานช่างสิบหมู่

คำว่าลายรดน้ำ หมายถึง การเขียนลวดลายหรือรูปภาพ ให้ปรากฎเป็น ลายทอง ด้วยวิธีการปิดทอง แล้วเอาน้ำรด เพื่อให้เกิดเป็นลวดลาย ตามที่ต้องการ

ลักษณะพิเศษของลายรดน้ำ คือ มีกรรมวิธีในการเขียนผิดแผก แตกต่างไปจากงานจิตรกรรมทั่วไป ที่ใช้หลายสีหรือแม้แต่งานจิตรกรรม ประเภทเอกรงค์เองก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะ การเขียนลายรดน้ำ จะใช้น้ำยาหรดาล เขียนลงบนพื้นซึ่งทาด้วยยาง ที่ได้จากต้นรัก เมื่อเขียนลาย เสร็จแล้วจึงเช็ดรักแล้วปิดทอง

งานช่างลายรดน้ำ เป็นงานประณีตศิลป์ที่มีความสำคัญมาก สำหรับ ตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ทั้งของชาวบ้าน เครื่องใช้ในพุทธศาสนา ตลอดไปจนถึงในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ที่มีหลักฐานปรากฎมา ตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี

งานช่างแขนงนี้ จึงเป็นมรดกทางศิลปกรรมที่มีคุณค่ายิ่งของไทย มีเอกลักษณ์โดดเด่น เฉพาะตัวทั้งวิธีการเขียนลวดลาย การเขียนและ การใช้เส้น การปิดทอง สีสันที่อ่อนช้อยนุ่มนวลแสดงให้เห็นถึง จินตนาการของช่างไทย แต่ละยุคสมัยสะท้อนความเป็นอยู่ของสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยในอดีตเป็นอย่างดี 

btemplates