ช่างศิลป์ไทย

ช่างศิลป์ไทย
การบรรยายพิเศษศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ “ช่างสิบหมู่กับงานสถาปัตยกรรมไทย”
โดย อ.วนิดา พึ่งสุนทร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร


พระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ความตอนหนึ่งว่า

“งานช่างศิลป์ไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาติ
เพราะศิลปะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นสถานภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และวิถี
ชีวิตของคนในชาติที่สืบทอดกันมายาวนานจนเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ...”

กระแสพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน ในพิธีเปิดนิทรรศการพิเศษเรื่อง การช่างศิลป์ไทย พ.ศ.2536

ช่างเชี่ยวช่างชาญเป็นงานช่าง     ช่วยสร้างช่วยสรรค์เป็นงานศิลป์
เป็นทิพย์เป็นไทยให้แผ่นดิน        ไม่สุดไม่สิ้นสืบวิญญาณ
ช่างเชียน ช่างปั้น ช่างแกะ สลัก   หล่อ กลึง หุ่น รัก บุปูน ประสาน
คือช่างสิบหมู่ผู้บันดาล              สายธารเส้นทางแห่งช่างไทย
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ .....ประพันธ์

 
คนไทยกับงานช่างศิลป์
เมื่อพูดถึงศิลปกรรมกับผู้สร้างสรรค์แล้ว ใน ปัจจุบันเราอาจนึกถึง งานศิลปะกับศิลปิน แต่ในสมัยก่อนเรายังไม่มีศัพท์เรียกเช่นนี้ คน สมัยก่อนเข้าใจงานประเภทนี้ว่าเป็นงานช่าง และภูมิปัญญาสร้างสรรค์งานศิลปะของ ช่าง ไทย ในสมัยก่อนก็เป็นที่ประจักษ์ถึงคุณค่า และความงามแห่งศิลปกรรมดังปรากฏ หลักฐานให้เห็นอยู่ในพิพิธภัณฑ์ และ โบราณสถานต่าง ๆ มากมาย
นิยามความหมายของ ช่างศิลป์ไทย
ความหมายตามที่กรมศิลปากรได้นิยามไว้กว้าง ๆ คือ “งานหรือสิ่งที่ทำโดยผู้ชำนาญในการฝีมือ หรือศิลปที่ หมายถึงฝีมือ ฝีมือทางการช่าง มีการแสดงออกซึ่ง อารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็นและรวมทั้งสิ่งที่จำกัดเฉพาะวิจิตรศิลป์ด้วย เป็นงานหรือสิ่งที่ทำโดยผู้ชำนาญในการฝีมือที่เป็นคนไทย ทำในประเทศไทย”

งานช่างศิลป์เป็นงานที่อาศัยสติปัญญา และฝีมือที่ผ่าน การฝึกฝนมาอย่างหนัก จึงจะเกิดผลงานอันวิจิตรและ อัศจรรย์ใจแก่ผู้พบเห็น ... ซึ่งคนไทยด้วยกันอาจเห็น จนเจนตา แต่ผลงานของช่างศิลป์ไทยในสายตาของ ชาวต่างชาติเป็นที่ยอมรับถึงคุณค่าแห่งความงามในเชิง ศิลปะอย่างแท้จริง

ศิลปะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นคู่กับมนุษย์มาช้านานแล้วนับแต่ สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน มีพัฒนาการในทางศิลปะมาโดยลำดับ ดังต่อไปนี้
ศิลปกรรมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ศิลปะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาช้านานปรากฏ หลักฐานนับแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ทั้งข้าวของ เครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีพ เครื่องประดับ และภาพเขียนสีฝาผนังถ้ำ เป็นต้น
เครื่องมือหินขัด จ.กาญจนบุรี
เครื่องมือเหล็กที่บ้านเชียง
กำไลสำริดที่บ้านเชียง
ลูกปัดหิน ลูกปัดแก้ว พบที่ภาคใต้
ภาพเขียนสีกาญจนบุรี
ภาชนะลายขุดและเขียนสีบ้านเชียง
ภาชนะลายขุด บ้านเชียง
ศิลปะสมัยอยุธยา
ตลับและจอกน้ำทองคำ กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ อยุธยา
หมวดของงานช่างศิลป์อาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มงานใหญ่ๆ คือ
1. งานช่างสิบหมู่หรืองานช่างหลวง และ
2. งานช่างพื้นบ้าน หรือศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน
งานช่างสิบหมู่(ช่างหลวง) --> หัตถศิลป์
งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน --> หัตถกรรม

ช่างสิบหมู่
ที่มาของชื่อนี้บางกระแสว่า “สิบ”มาจาก “สิปปะ” ใน ภาษาบาลีซึ่งหมายถึงศิลปะ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงกล่าวถึงความหมายของช่างสิบหมู่ไว้ตอนหนึ่ง ว่า “ช่างสิบหมู่เป็นแต่ชื่อกรมที่รวบรวมช่างไว้มีสิบหมู่ด้วยกัน ไม่ใช่ช่างในบ้านเมืองมีแต่สิบอย่างเท่านั้น”

งานช่างสิบหมู่มีการแบ่งหมวดหมู่ไว้สิบหมวดซึ่งต่างกัน ไปในแต่ละสมัย โดยจะยกงานช่างสิบหมู่สมัยต้น รัตนโกสินทร์(ร.1-ร.7) ที่ได้แยกหมวดการทำงานช่าง ไว้สิบหมวดดังนี้คือ
1. ช่างเขียน
2. ช่างแกะ
3.ช่างสลัก
4. ช่างปั้น
5. ช่างหุ่น
6. ช่างหล่อ
7.ช่างปูน
8. ช่างรัก
9. ช่างบุ
10. ช่างกลึง

1. ช่างเขียน
เป็นแม่บทของกระบวนงานช่างทั้งหลาย เนื่องจากช่างทุกประเภทที่ทำงานได้ต้องมีการร่างแบบนำทางก่อนทั้งสิ้น ในสมัยก่อนเรียกว่า“กะแผน วาดแบบ ให้แบบ” ซึ่งช่างเขียนจะต้องฝึกวาดให้ได้ทั้งลายและ
ภาพ ซึ่งแบ่งออกเป็นสี่กลุ่มคือ “กนก นารีกระบี่คชะ”
กนก เป็นจำพวกลายต่าง ๆ เช่น กนกแม่ลายต่าง ๆ ต้องรู้การออกลาย การผูกลาย
นารี เป็นจำพวกลายมนุษย์ เทวดา นารี ที่สำคัญคงเป็นภาพพระ นาง
กระบี่ เป็นจำพวกอมนุษย์ทั้งยักษ์ลิง อสูร ต่าง ๆ
คชะ เป็นจำพวกสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์หิมพานต์

ที่สำคัญของงานหมวดนี้คือ จิตรกรรมฝาผนัง ที่มีทั้งส่วนที่เป็นลายรดน้ำปิดทอง และเขียนสีซึ่งสีไทยที่
สำคัญมีห้าสีคือ สีแดง เหลือง คราม ขาว และดำ ซึ่งสมารถนำมาผสมกันได้อีกหลายสิบสี

ความรู้และความเข้าใจเรื่องสีเป็นสิ่งสำคัญมาก หากสังเกตุให้ดีจะเห็นได้ว่าคุณลักษณะของการให้สีแบบ ช่างโบราณจะแตกต่างจากลักษณะของงานศิลปกรรมในปัจจุบัน หากมีการซ่อมสงวนที่ไม่เข้าใจเรื่องสีก็อาจทำให้คุณลักษณะอารมณ์ของภาพที่เคยมีเปลี่ยนแปลงไป คือมีสีสันฉูดฉาดกลายเป็นสีโปสเตอร์ซึ่งผิด จากลักษณะของจิตรกรรมไทยที่จะมีโทนสีของภาพโดยรวมกลมกลืนกัน แล้วเน้นเฉพาะตัวพระนาง หรือ จุดที่สำคัญเท่านั้น มิได้แข่งกันแสดงความสำคัญไปเสียทุก ๆ จุด
ลายเส้น ศ.ศิลป์ พีระศรี ลายไทย : พระเทวภินิมมิตร
2. ช่างแกะ
เป็นการทำงานของช่างแกะรูปลายทั้งไม้โลหะ และหิน ซึ่งวิธีการทำงานแกะวัสดุแต่ละชนิดจะมีการเขียนแม่ลายที่ต้องแกะเป็นพื้นอยู่ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับงานช่างแกะเป็นหลักก็คือสิ่ว แต่หากเป็นการโกลนรูปขนาด ใหญ่ก็อาจใช้ขวานหรือผึ่งขึ้นโกลนลายเสียก่อน แต่สิ่งสำคัญของการแกะลายคือทรงทั้งหมดที่ต้องทำให้ได้โกลนที่ถูกส่วนก่อน หากทำไม่ได้ส่วน แม้จะแกะลายละเอียดยิบเพียงใดก็ไม่งามตานัก

งานแกะที่เราคุ้นตากันส่วนมากเป็นงานไม้และโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมพวกหน้าบัน บานประตูหน้าต่าง ส่วนงานโลหะนั้นมักเป็นเครื่องประดับหรือของใช้ที่มีการทำลวดลายประดับที่ช่วยขับ ให้เกิดความแวววาว เช่น กำไล แหวน เครื่องถม หรือเครื่องคร่ำ และสำหรับงานแกะหินนั้นมักเรียกกัน ว่างานจำหลักหิน นอกนั้นอาจมีงานแกะสลักงาช้าง หรือวัสดุอื่น ๆ อีกบ้าง แต่จะไม่มากเท่าวัสดุทั้งสาม อย่างข้างต้น
ลายแกะไม้ที่เสาพระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ รัฐอุตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย
3. ช่างสลัก
ช่างสลักในสมัยก่อนแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ช่างสลักกระดาษ และช่างสลักของอ่อน ที่เรียกกันว่า เครื่องสดเช่นการแทงหยวก การแกะสลักผักและผลไม้ การสลักหรือ “ฉลัก” กระดาษ คือฉลุ
กระดาษให้โปร่งด้วยการใช้สิ่วตอกลาย ลักษณะอาคารที่ใช้งานสลักกระดาษจะเป็นอาคารชั่วคราว เช่น เมรุพลับพลา เป็นต้น ลักษณะงานตกแต่งลายฉลุปิดทองในอาคารทางศาสนา ก็ใช้เทคนิควิธีการฉลุ
กระดาษทำลายลงรักปิดทอง และงานหนังใหญ่ก็เป็นงานประเภทช่างสลักด้วยเช่นกัน
หนังใหญ่
4. ช่างปั้น
งานช่างปั้นที่แท้คืองานปั้นปูน โดยเฉพาะการปั้นพระพุทธรูป งานปั้นดินอาจมีการผสมกระดาษฟาง หมักน้ำ เพื่อให้มีเนื้อดินมีความเหนียว ปั้นได้ง่ายมากขึ้น ช่างปั้น ช่างหุ่น และช่างหล่อ จะมีความ เกี่ยวข้องกันเนื่องเพราะลักษณะงานที่สัมพัน์กัน บางทีช่างทั้งสามแขนงอาจทำด้วยคนคนเดียวกัน เช่น การทำพระพุทธรูปก็ย่อมต้องมีการปั้นหุ่นพระพุทธรูปต้นแบบขึ้นมาก่อน เพื่อที่จะนำไปเป็นต้นแบบ หล่อต่อไป ทั้งนี้นอกจากการปั้นดินแล้ว ก็มีการใช้วัสดุอื่นได้ด้วย เช่น ขี้ผึ้ง เป็นต้น
พระพุทธรูปวัดไหล่หินหลวง จ.ลำปาง
5. ช่างหุ่น
คำว่า “หุ่น” นี้หมายถึง “ตัว หรือรูปร่าง” สิ่งที่จะทำเป็นหุ่นจึงเป็น คน หรือสัตว์วัสดุที่ใช้คงเป็นพวก ไม้
เนื้ออ่อน หรือกระดาษเท่านั้น อาจมีไม้จริงประกอบบ้างเล็กน้อย งานหุ่นจึงเป็นงานที่ไม่ใคร่จะมีความ คงทนถาวรนัก เช่น “หุ่นกระบอก” ช่างหุ่นนี้อาจรวมไปถึง ช่างทำหัวโขนด้วย เพราะมีวิธีการผลิตงาน แบบเดียวกัน การทำหุ่นนี้สำคัญอยู่ที่การทำโครง เรียกว่า “การผูกโครง” ซึ่งมักทำด้วยไม้ไผ่ รูปร่างหุ่นจะ ออกมางามหรือไม่ก็อยู่ที่การผูกโครงนี้เอง การทำหุ่นนี้ปัจจุบันเราอาจนึกถึงแต่เฉพาะหุ่นกระบอก เป็นตัว ๆ แต่จริง ๆ แล้วการทำหุ่นก็สามารถทำเป็นสิ่งของได้เช่นการทำโคม ก็อาจทำหุ่นโคมเป็นรูปต่าง ๆ
6. ช่างหล่อ
คือช่างหล่อโลหะ การหล่อโลหะเป็นงานที่ทำมาช้านานแล้ว ดังปรากฏหลักฐานเป็นกลองมโหระทึก พระพุทธรูป กระถางธูป เชิงเทียน กระโถน เป็นต้น แต่งานหล่อที่สำคัญที่สุดก็คืองานหล่อพระพุทธรูป และการหล่อโลหะโดยปกติก็ใช้วิธีการที่เรียกกันว่า “ไล่ขี้ผึ้ง” เป็นวิธีของช่างที่ทำให้ขี้ผึ้งซึ่งปั้นเป็นหุ่น ละลายออกจนเกิดที่ว่างในพิมพ์แล้วเททองที่หลอมละลายดีแล้วเข้าแทนที่ก็จะได้รูปหล่อโลหะทองสัมฤทธิ์ที่มีแบบและลักษณะเช่นเดียวกับหุ่นขี้ผึ้ง แต่ในกระบวนการในการทำนั้นมีหลายขั้นตอนช่างหล่อที่มีความสามารถจัดวางหน้าที่ช่างในแต่ละฝ่ายตามความถนัด เช่น ช่างสุมทอง ช่างเททอง ช่างแต่งพระ และ ต้องกำหนดสัดส่วนให้เหมาะสมตามขนาดของงานด้วย
7. ช่างปูน
ลักษณะงานมีความหลากหลายตั้งแต่งานซ่อม งานสร้าง งานที่ไม่ต้องใช้วามประณีตมากเช่นงานก่อปูนสอ ในการประสานอิฐให้เรียงต่อกัน จนถึงงานปูนปั้นที่ต้องทำอย่างประณีต และต้องเป็นช่างที่มีความชำนาญ ถึงขีดศิลปเพราะเมื่อนำปูนเข้าปั้นแล้วยากแก่การเอาออก และเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัวด้วยรูปแบบงานแบบพระราชนิยมส่งผลให้รูปแบบงานมีความหลากหลายมากขึ้นทั้งในรูปแบบ การก่อหน้าบันและตกแต่งจั่วแทนช่อฟ้าหางหงส์และรูปแบบวิธีในการปั้นที่ใช้วิธี “ กระแหนะปูน” โดย การปั้นปูนเข้ากับแผ่นไม้ทำเป็นลวดลายดอกไม้เลื้อยเกี่ยวพันกันอย่างงดงามอย่างที่วัดราชโอรสสาราม และวัดเขมาภิรตาราม
8. ช่างรัก
ในงานศิลปะไทยมักมีช่างรักแทรกอยู่ในหลายกระบวนการจึงถือว่างานลงรักปิดทองเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่แสดงความสำเร็จอย่างสมบูรณ์การลงรักในสิ่งของต่างๆก็เพื่อรักษาคุณสมบัติของสิ่งของเหล่านั้นให้คงทน ถาวรมากขึ้น ในการเอารักมาใช้สามารถจำแนกได้เป็นประเภทต่างๆดังนี้

รักรองพื้น ยางรักที่ผ่านการกรองแล้วใช้แปรงทาลงพื้นเพื่อให้จับผื้นแน่นเป็นครั้งแรก
รักสมุก การผสมรักกับถ่านใบตองหรือถ่านหญ้าคาโดยบดเนื้อรักกับส่วนผสมให้ละเอียดจนพอปั้นได้
รักน้ำเกลี้ยง เป็นรักแบบแห้งเร็วทาทับบนรักสมุกที่ขัดเรียบเกลี้ยงทำให้พื้นรักดูเป็นเงางามมากขึ้น
ลายตู้พระธรรมวัดเชิงหวาย
9. ช่างบุ
“บุ ”หมายถึงการตีแผ่ให้แบนออกเป็นรูปต่างๆ ช่างบุจึงต้องอาศัยความชำนาญในการตีโลหะให้ขึ้นรูปเป็น ภาชนะต่างๆหากเป็นงานที่ต้องอาศัยความประณีตมากขึ้น เช่นบรรดาเครื่องราชูปโภค เครื่องประดับต่างๆก็มักต้องมีช่างบุแทรกอยู่ตามส่วนต่างๆของงานด้วย นอกจากนี้ช่างบุต้องมีความชำนาญในการผสมโลหะ ต่างๆ เช่นในการบุเงินนั้นต้องมีการใส่ส่วนผสมของทองแดงเพื่อให้เนื้อเหนียวขึ้น รวมถึงกรรมวิธีในการตีบุแผ่นโลหะให้กระจายออกอย่างสม่ำเสมอ
กาน้ำชา
10. ช่างกลึง
การกลึงจำต้องอาศัยแบบที่บอกขนาดไว้เรียบร้อยแล้ว โดยการการกลึงต้องมีการโกลนรูป หรือการ ขึ้นรูปทรงคร่าวๆ แต่ในการโกลนรูปแบบที่จะกลึงนั้นต้องคำนึงถึงศูนย์กลางโดยในการกลึงนั้นจะมี
ลักษณะอยู่สองแบบด้วยกันคือ
- การกลึงที่เอาแต่รูปภายร่างภายนอก เช่นเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์เหรือเสาหัวกลมต่างๆตลอดจน ตัวหมากรุก ด้ามมีดเป็นต้น
- การกลึงทั้งภายนอกและภายใน เช่นการกลึงตลับ กลึงโกส กลึงเชี่ยนหมาก
เมื่อกลึงสิ่งของแล้วช่างกลึงจะส่งต่อให้ช่างไม้ประกอบเข้ากับสิ่งของหรืออาคารสถานที่ต่างๆ แล้ว หลังจากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของช่างกลุ่มต่างๆต่อไปในการตกแต่งและทำให้งานสมบูรณ์ขึ้น
ช่างพื้นบ้าน
ลักษณะและประเภทงานดังกล่าวข้างต้น เป็นการแบ่ง หมวดหมู่ตามลักษณะความประณีตของงานช่างศิลป์ เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งตามจริงแล้วงานช่างพื้นบ้านนั้น ยังแบ่งประเภทปลีกย่อยออกได้อีกหลายอย่าง แต่จะขอ ยกไว้ไม่กล่าวถึงในที่นี้

แต่สิ่งที่ต้องการชี้ประเด็นในเรื่องงานช่างศิลป์ที่ขอ กล่าวถึงคือ จุดมุ่งหมายของการสร้างสรรค์งานศิลป์
ของช่างศิลป์ไทย ที่หากพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่ามีจุดมุ่งหมายในการทำงานอยู่3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ
1. งานช่างเนื่องในความเชื่อ ความศรัทธา
2. งานช่างเพื่อแสดงถึงสถานะทางสังคม
3. งานช่างเพื่อการใช้สอยในชีวิตประจำวันทั่วไป
บทสรุป
งานช่างศิลป์ไทย ไม่ว่าจะเป็นงานหัตถศิลป์หรือหัตถกรรม ล้วนทำขึ้นโดยอาศัยทักษะ เทคนิค ซึ่งเป็นภูมิปัญญาอันมีค่า ควรแก่การยกย่องทั้งสิ้น นั่นย่อมปฏิเสธไม่ได้ถึงคุณ ค่าที่มีอยู่ในตัวงาน แม้ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานเพียงใด คุณค่านั้นก็ยังคงอยู่และอาจมีคุณค่ามากยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปะร่วม ด้วย

และงานช่างศิลป์ในอดีต ก็ส่งผ่านมาถึงงานช่างศิลป์ในปัจจุบัน แม้ว่าการทำงานช่างศิลป์
บางประเภทอาจมิได้ทำขึ้นเพื่อรับใช้ชนชั้นสูงดังเช่นเป็นมาในอดีตแล้ว แต่ก็สามารถ ประยุกต์ไปสู่การใช้สอยแบบใหม่ๆ ในปัจจุบันได้ สิ่งซึ่งเป็นคุณค่าของงานช่างศิลป์ไทยประการหนึ่งซึ่งเด่นชัด คือเป็นงานที่ทำด้วยมือ ทั้งยังเป็นงานที่ปราณีต ต้องมีทักษะ ฝีมือผ่านการฝึกฝนอย่างเข้มข้น มีรากฐานแห่งภูมิปัญญา ความคิด งานที่ทำขึ้นทุกชิ้นจึง มีจิตวิญญาณแห่งการสรรค์สร้างของช่าง หรือศิลปินประสมอยู่ด้วยทุกชิ้น ซึ่งนี่เองที่ทำให้งานช่างศิลป์ไทยเป็นงานที่มีเสน่ห์และคุณค่าอย่างแท้จริง
more info ช่างศิลป์ไทย
ที่มาภาพและข้อมู
ความรู้ทั่วไปในงานช่างศิลป์ไทย : เปี่ยมสุข เหรียญรุ่งเรือง และคณะ,2545
เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องเคลือบกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของสยาม : ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ,2528
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย : สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ,2523
ช่างศิลปไทย : กรมศิลปากร (ชุดที่1 เล่มที่ 1) ,.2537
ช่างศิลป์ไทย : กรมศิลปากร (ชุดที่1 เล่มที่ 2) ,.2537
ชีวิตไทย ช่างสิบหมู่ : คุณหญิงเต็มสิริ บุณยสิงห์,มปป.
ตาลปัตรพัดยศ : ณัฎฐภัทร จันทวิช ,2538
ประณีตศิลป์ไทยในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรมศิลปากร, 2544
พระพุทธรูปมรดกล้ำค่าของเมืองไทย :ทศพล จังพายนิชย์กุล ,2545
ลายไทพ ภาพไทย : ปฏิพัทธ์ดาระดาษ ,2538
ศิลปะแห่งราชธานีกรุงศรีอยุธยา : กรมศิลปากร,2549
สมุดภาพพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก : กระทรวงศึกษาธิการ , 2528
หัตถกรรมไทย : จิราภรณ์ เจริญเดช ,2545
SPIRIT : ART & ANTIQUE
ศิลปวัตถุในเรื่องบางส่วน : เจ้าของ อ.วนิดา พึ่งสุนทร
                                 : เจ้าของ อ.บัญชา ชุ่มเกษร

btemplates