เส้นสาย ลายชีวิต ในงานแกะไม้

ลีลาศิลป์: เส้นสาย ลายชีวิต…ในงานแกะไม้
source: www.warindesign.com, www.salahlanna.com (ปัจจุบันปิดเว็บไซต์แล้ว)
ชีวิตของสาวผู้รักงานไม้ ถือกำเนิดมาในครอบครัวของช่างทำเฟอร์นิเจอร์ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยพ่อและตาของเธอทำงานด้านนี้มาก่อนที่เธอจะลืมตาดูโลกเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงไม่ต้องพูดว่าเธอรู้เรื่องงานไม้เหล่านี้มากมายเพียงใด แต่นั่นก็ไม่ใช่จุดที่ทำให้ชีวิตของวารินทร์เปลี่ยนไปเท่ากับวันที่เธอมาเจอ สล่าเพชร วิริยะ ช่างแกะช้าง ที่บ้านจ๊างนัก อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เพราะผู้ชายคนนี้คือคนที่ทำให้ชีวิตของเธอ ได้เดินตามทางที่ค้นหามานาน…

“ครูเพชร เป็นผู้สร้างตำนานช้างแกะในเมืองไทย ช้างแกะตัวเล็ก ๆ ที่เราเห็นกันจนเต็มเมืองนั้นมีต้นกำเนิดมาจากท่าน การที่ได้เจอครูเพชรเหมือนได้เจอจุดหมายปลายทาง เป็นคำตอบให้กับดิฉันในตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ทำงานทางด้านโปรดักดีไซน์ว่า เส้นทางของดิฉันอยู่ตรงไหน เพราะทุกครั้งที่เราทำงานตามสายอาชีพที่เรียนมาคือเฟอร์นิเจอร์ มีบางสิ่งที่บอกดิฉันมาตลอดว่า สิ่งที่ดิฉันอยู่ไม่ใช่สิ่งที่ดิฉันเป็น ดิฉันทึ่งท่านมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นช่างพื้นบ้านแต่ดิฉันรู้สึกว่า ท่านเป็นยิ่งกว่า ด็อกเต้อร์ เวลาที่ทำงานแกะสลักช้าง ท่านจะใส่ชีวิต ไปกับทุกชิ้นงานที่ท่านแกะ เมื่อรู้สึกอย่างนี้แล้วก็เลยขอท่านเรียนเลย เพราะว่าเรียนเป็นช่างแกะต้องลึกซึ้ง ต้องเรียนกันอย่างจริงจัง”

งานชิ้นแรกที่ทำเสร็จ คุณแจงบอกว่าเธอใช้เวลาถึง 1 ปีเต็ม เพราะหลังจากที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำมา เธอก็รับงานเป็นฟรีแลนซ์ ใช้เวลาศุกร์-จันทร์ในการเรียนแกะไม้ โดยเดินทางจากกรุงเทพฯถึงเชียงใหม่เป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นจึงนั่งรถทัวร์ไป-กลับแทน ส่วนวันอื่นที่เหลือ จะเป็นวันที่เธอรับงานมาทำเพื่อใช้เป็นรายได้ในการดำรงชีวิตของตัวเอง

“ช่วงแรก ๆ งานจะเป็นเรื่องราวของความรัก เพราะตอนนั้นยังมีความรักที่สวยงามอยู่ (หัวเราะ) เวลาที่มีความรู้สึกอะไรที่เด่นๆดิฉันจะจับมาเป็นงานได้หมด นี่เป็นข้อดีของคนทำงานศิลปะ ไม่ว่าจะสุข จะทุกข์ จะสามารถทำออกมาเป็นงานได้ ถ้าปวดร้าวมาก ๆ งานศิลปะก็ยังช่วยบำบัดจิตใจของเราได้ด้วย”

งานของเธอส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวของช้าง เรื่องนี้สล่าแจงบอกว่า เธอได้รับอิทธิพลมาจากคุณครูของเธอโดยตรง แต่เมื่อได้เรียนรู้ผ่านไปในระยะหนึ่ง สล่าแจงก็เริ่มค้นพบทางของตัวเองบ้าง ซึ่งนั่นก็คือการเพ้นท์สีลงไปในเนื้อไม้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการให้งานแกะไม้และงานเพ้นท์สีอยู่ด้วย การแกะสลักโดยเทคนิคผสมจึงเกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งตัวมากนัก

“ดิฉันชอบทำเรื่องผู้หญิงล้านนา ผู้หญิงที่แต่งกายในชุดพื้นเมือง เพราะตัวเองชอบชุดพื้นเมือง บางทีก็นำสไตล์เสื้อผ้าของตัวเองที่แปลกๆนี่แหละ สเก๊ตลงไปในรูป และดิฉันจะชอบให้ผู้หญิงดูเข้มแข็ง อย่างเช่น ฟันดาบ หรือจะเป็นผู้หญิงรำบ้างก็ได้ แต่ที่สนุกก็คือจะเจอเทคนิคใหม่ ๆ ขณะที่ทำงาน บางภาพเป็นเหมือนกับเราเอาพู่กันจีนมาปาด พอเดินเข้าไปดูจริง ๆ แล้ว มันกลายเป็นเส้นสิ่ว สิ่วหนึ่งตัวให้เส้นออกมาได้หลากหลายแนวมากอย่างไม่น่าเชื่อ ตรงนี้แหละที่สนุก หลัง ๆ ก็จะคลี่คลายมาสู่งาน Abstract เพราะดิฉันจับความรู้สึกได้ชัดขึ้น และพอจับความรู้สึกได้แล้วก็จะนำเสนอออกมาเป็นงาน”

แต่อย่างไรก็ดี ด้วยสภาวะของประเทศไทยเราในตอนนี้ การหาไม้มาแกะไม่ใช่เรื่องง่าย และน่าจะเป็นปัญหาของสล่าไม้โดยตรง เรื่องนี้สล่าแจงบอกว่า เธอได้หาทางออกไว้เรียบร้อย เพราะเธอพบไม้อัดชนิดหนึ่งที่เมื่อนำมาเคลือบผิวด้วยเรซิ่นแล้ว จะสามารถป้องกันความชื้นซึ่งก่อให้เกิดเชื้อราบนเนื้อไม้ได้ อีกทั้งไม้ชนิดนี้ในอนาคตการผลิตจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นอะไรที่หาง่าย แกะสนุก ไม่มีแนวเสี้ยน ลงสีไม้สวย เพราะฉะนั้นปัญหานี้จึงหมดไป เหลือแต่เพียงทำอย่างไรให้คนหันมาสนใจเรื่องราวงานไม้ และศิลปะมากขึ้นเท่านั้น

ถ้าจะดูงานไม้ให้ได้อรรถรสต้องจับนะ ต้องเอามือสัมผัสงานแกะ เมื่อเราจับไป ขนของไม้จะฟูขึ้นมา จะสากที่มือ และบางชิ้นถูกแกะลงไปลึก คนที่สัมผัสจะรู้ได้ว่า ขณะที่เราทำ เราตั้งใจขนาดไหน บางชิ้นที่ลึกมากก็มีจนมีคนถามว่า งานชิ้นนี้ปั้นหรือเปล่า

งานแกะไม้จึงเป็นงานที่เหนื่อย แลกมาด้วยหลายสิ่ง ถ้าคิดจะทำต้องรักก่อน พอรักแล้วจะเปิดใจรับหมด เวลาที่มันมีปัญหาจะคลี่คลายด้วยดี สังเกตดูว่าสิ่งไหนที่เราไม่รักและเราทำอยู่ แค่ปัญหานิดเดียว จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ แต่สิ่งไหนที่เรารัก เราชื่นชอบ เราพร้อมที่จะลุย ปัญหาใหญ่แค่ไหนก็จะเล็กนิดเดียว ต้องถามใจตัวเองก่อนว่ารักหรือเปล่า หรือว่าเห็นคนทำแล้วเท่จึงอยากทำ”

จากนั้นก็ตามมาด้วยเรื่องของความอดทน เพราะไม่มีทางที่มือของเราจะมีรูปสวยอย่างเช่นแต่ก่อน ความหยาบ ข้อมือโปน คือสิ่งที่ตามมาติด ๆ แต่กระนั้นก็ดี สล่าแจงบอกว่านี่ไม่ใช่ปัญหาสำคัญของคนที่มีใจรักในเนื้อไม้เลย

ปัจจุบัน งานแกะไม้ยังไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ดังที่บอกไว้ว่านี่คือวิชาจากช่างสู่ช่าง สล่า คือภาษาพื้นเมืองของชาวล้านนาที่แปลว่าช่าง ดังนั้นหากแม้นมีใครสนใจก็สามารถหาเรียนได้ เพียงแต่ว่า คุณมีใจรักงานไม้เพียงใดเท่านั้น ถ้าสนใจ บรมครู คำอ้าย เดชดวงตา ซึ่งเป็นครูของสล่าเพชร วิริยะ ก็เปิดสอนอยู่ที่ องค์การป่าไม้เชียงใหม่
หรือค้นหาข้อมูลได้ที่ www.salahlanna.com  www.warindesign.com(ปัจจุบันปิดเว็บไซต์แล้ว)
ผลงาน ไม้แกะสลัก

btemplates