อาชีพไม้แกะสลัก-ผลกระทบทางสุขภาพ

ผลกระทบทางสุขภาพอาชีพ ไม้แกะสลัก
กรณีศึกษาบ้านถวาย ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัด เชียงใหม่
Author: นางอุบล สิงห์แก้ว

วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบทางสุขภาพใน 4 มิติ คือ ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสังคม และด้านวิญญาณของประชาชนจากการประกอบอาชีพ ไม้แกะสลัก บ้านถวาย ตำบล ขุนคง อำเภอ หางดง จังหวัด เชียงใหม่ กลุ่มตัวอย่างในการศึกษา คือผู้ประกอบอาชีพ ไม้แกะสลัก จำนวน 180 คน ประชาชนทั่วไปจำนวน 60 คนโดยการสุ่มตัวอย่างแบบอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือแบบสัมภาษณ์ แนวคำถามการจัดสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์เชิงลึก และแบบสังเกตบริบทชุมชน โดยผ่านการตรวจสอบความตรงของเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่านและนำแบบสัมภาษณ์ไปหาความเชื่อมั่น โดยแบบสัมภาษณ์ผู้ประกอบอาชีพได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.88 ประชาชนทั่วไป ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.77 รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง การสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตการสนทนากลุ่ม และการจัดเวทีนำเสนอผลการศึกษา

1. ผลกระทบทางกายด้านบวก คือการที่ได้ทำงานอยู่ในหมู่บ้านทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุในการเดินทางไปทำงาน ผลกระทบด้านลบในกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบอาชีพ ไม้แกะสลัก ได้แก่การเจ็บป่วยในระบบกล้ามเนื้อและโครงร่าง รองลงมาได้แก่อาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ การได้รับบาดเจ็บ หรืออุบัติเหตุจากการทำงานจำนวนมากที่สุด ได้แก่สารเคมีกระเด็นเข้าปาก เข้าตา หรือถูกผิวหนัง รองลงมาได้แก่การถูกสิ่วบาดมือ ในกลุ่มประชาชนทั่วไปได้แก่อาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ รองลงมาได้แก่การเจ็บป่วยในระบบทางเดินหายใจ
2. ผลกระทบทางจิตใจด้านบวก พบว่าในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพ ไม้แกะสลัก มีความพึงพอใจที่ได้ประกอบอาชีพ ไม้แกะสลัก และรู้สึกมีความสุขเมื่อมีรายได้ที่สามารถใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการผลิตสินค้า และใช้จ่ายในครอบครัวอย่างเพียงพอ สำหรับในกลุ่มประชาชนทั่วไปมีความพึงพอใจที่มีการประกอบอาชีพในหมู่บ้าน เนื่องจากทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ผลกระทบด้านลบพบว่าประชาชนที่ประกอบอาชีพ ไม้แกะสลัก ส่วนใหญ่จะมีความเครียด หรือมีความทุกข์ เนื่องจากรายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย ภาระหนี้สิน รวมทั้งการที่มีโอกาสได้สัมผัสกับสิ่งคุกคามต่างๆ เช่น ฝุ่นละอองไม้ สารเคมี การทำงานด้วยท่าทางเดิมๆ ซ้ำๆ ภาวะเสียงดังจากเครื่องมือ และแสงสว่างจ้าเกินไปในขณะทำงาน สำหรับในกลุ่มประชาชนทั่วไปมีความเครียดเนื่องมาจากที่มีโอกาสได้สัมผัสกับสิ่งคุกคามต่างๆ เช่นฝุ่นละอองไม้ สารเคมี รวมทั้งเสียงดังจากเครื่องมือที่ผู้ประกอบอาชีพใช้ในขณะทำงาน
3. ผลกระทบทางสังคมด้านบวก พบว่า ในภาพรวมความสัมพันธ์ในระดับครอบครัวชุมชน มีความสัมพันธ์กันดี ไม่ค่อยมีเรื่องขัดแย้งกัน ประชาชนให้ความร่วมมือช่วยงานหมู่บ้านอย่างสม่ำเสมอ มีการรวมกลุ่มให้การช่วยเหลือกัน ผลกระทบด้านลบพบว่าการที่มีคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน และอาศัยในหมู่บ้านมากขึ้นทำให้ประชาชนมีความวิตกว่าจะเป็นพาหะนำโรคติดต่อมา และมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน
4. ผลกระทบทางสังคมทางจิตวิญญาณด้านบวก พบว่าในภาพรวมประชาชนส่วนใหญ่มีความภาคภูมิใจที่ได้ประกอบอาชีพการ แกะสลักไม้ มีการเข้าร่วมทำบุญ ประเพณีต่างๆ มีการเสียสละเพื่อช่วยงานส่วนรวมอย่างสม่ำเสมอ ผลกระทบด้านลบพบว่าวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปจากสังคมชนบท ไปสู่สังคมเมืองมากขึ้น ทำให้การแข่งชันในการค้าขายและการดำรงชีวิต ในอนาคตประชาชนอาจมีความเอื้ออาทรต่อกันน้อยลง มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น
5. ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม พบว่ามีฝุ่นละออง ขยะต่างๆ รวมทั้งขยะอันตรายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดเก็บขยะภายในหมู่บ้านยังเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขต่อไป

ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชนในการนำไปวางแผนในการดูแล และส่งเสริมสุขภาพ เพื่อลดภาวะเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการประกอบอาชีพ ไม้แกะสลัก

btemplates